คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้องพิพาทและที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 สามีโจทก์ที่1 เป็นแต่เพียงผู้เช่าโดยมีโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาและบุตรเป็นบริวาร จำเลยที่ 1 เคยฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 1 และสามีออกจากห้องพิพาท ทนายของสามีโจทก์ที่ 1 แถลงต่อศาลว่าผู้เช่ารับว่าจะไม่ไปเกี่ยวข้องกับห้องพิพาทอีกต่อไป ดังนี้ โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบริวารจึงไม่มีสิทธิอันใดในห้องพิพาท การที่โจทก์ทั้งสองเข้าอยู่ในห้องต่อไปจึงเป็นการเข้าอยู่โดยละเมิด ไม่มีสิทธิครอบครอง และไม่มีการครอบครองตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ฉะนั้น ความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่อห้องพิพาทจึงไม่อาจเกิดแก่จำเลยซึ่งบุกรุกเข้าไปรื้อห้องพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 6 คนมีปืน มีด ฯลฯ ติดตัวไปร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ห้องเลขที่ 489/10 อันเป็นอาคารเก็บรักษาทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อที่จำเลยกับพวกจะเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวของโจทก์โดยปกติสุข และเพื่อจำเลยกับพวกจะถือเอาอาคารและที่ดินปลูกห้องดังกล่าวไปเป็นของจำเลยด้วยวิธีการอันผิดกฎหมาย และจำเลยกับพวกได้ใช้อาวุธดังกล่าวข้างต้นงัดรื้อ ทำลายอาคารห้องเลขที่ 489/10 ของโจทก์ ราคา 7,000 บาท จนเสื่อมค่า ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถใช้เป็นอาคารเก็บรักษาทรัพย์สินได้ต่อไป ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ในห้องดังกล่าวเสียหาย คือ ไข่เค็มพอก 2,000 ฟอง ราคา 1,200 บาท ฯลฯรวมราคา 8,500 บาท และในระหว่างที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันลักเอาสังกะสี 12 แผ่น ราคา 140 บาทของโจทก์ที่ 2 ไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363, 364, 365, 358, 335 และ 83 ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องในข้อหาฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ สำหรับจำเลยทุกคน กับข้อหาฐานลักทรัพย์สำหรับจำเลย ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ด้วย

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุที่ดินและอาคารพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ฉะนั้น ความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่ออาคารเลขที่ 489/10 จึงไม่อาจเกิดแก่จำเลยได้ ส่วนข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์ต่อไข่เค็ม ฯลฯ ฟังไม่ได้ว่าเสียหายจริง จำเลยที่ 2ขนสังกะสีไปโดยไม่มีเจตนาทุจริตจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของห้องพิพาทและที่ดินโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เช่าและเป็นผู้ครอบครองห้องพิพาทขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิในห้องพิพาทการที่จำเลยทุกคนร่วมกันรื้อห้องพิพาทจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกโดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 จำเลยมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ คือ ไข่เค็ม ฯลฯ แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ช่วยกันขนสังกะสีซึ่งวางไว้เกะกะไปเก็บโดยไม่มีเจตนาทุจริต พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทุกคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 358, 83 วางโทษตามมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนัก ฯลฯ นอกจากที่แก้ ยืน

โจทก์ฎีกามิให้รอการลงโทษ จำเลยฎีกาว่ามิได้กระทำความผิด

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อหาฐานลักทรัพย์ยุติแล้ว คงวินิจฉัยเฉพาะข้อหาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของห้องพิพาทและที่ดิน นายต๋าสามีโจทก์ที่ 1 เป็นแต่เพียงผู้เช่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ ที่ 2 เป็นบริวารของนายต๋า เมื่อจำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่นายต๋า นางผิน บิดามารดาโจทก์ที่ 2 ออกจากห้องพิพาทเลขที่ 489/10 ทนายของนายต๋าแถลงว่าจำเลยรับว่าจะไม่ไปเกี่ยวข้องกับห้องเช่าที่พิพาทของโจทก์อีกต่อไป ดังปรากฏตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งดำที่ 235/2510 ของศาลชั้นต้นแล้ววินิจฉัยว่าทนายของนายต๋าได้แถลงรับในคดีแพ่งดำที่ 235/2510 ว่า จำเลยรับว่าจะไม่ไปเกี่ยวข้องกับห้องพิพาทอีกต่อไป การที่นายต๋าผู้เช่ายอมออกจากห้องพิพาทดังกล่าวแล้ว นางผินโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของนายต๋า และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร จึงไม่มีสิทธิอันใดในห้องพิพาทที่โจทก์ทั้งสองเข้าไปอยู่ในห้องพิพาทหลังจากนายต๋ารับว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับห้องพิพาทอีกต่อไปนั้น จึงเป็นการเข้าไปอยู่โดยละเมิด ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่มีการครอบครองตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่อห้องพิพาทจึงไม่อาจเกิดแก่จำเลยได้

ส่วนข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์อื่น ๆ นอกจากห้องพิพาทวินิจฉัยว่ายังไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าทรัพย์ในห้องพิพาทได้เสียหายตามฟ้อง

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share