แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งในระหว่างเกิดเหตุมี ส. เป็นผู้ว่าการ ส. จึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การที่ น. ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายอันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าโจทก์รู้ด้วยหาได้ไม่ เพราะ น. ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ส่วนคำสั่งของโจทก์เรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองอำนวยการและกองกฎหมายนั้น เป็นเพียงคำสั่งกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภายในองค์กรของโจทก์เท่านั้น การที่ น. มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่วางตามปกติ ไม่ใช่เป็นการกระทำแทนผู้ว่าการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะของตัวการตัวแทนอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ว่าการ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ส. ผู้ว่าการของโจทก์ได้ทราบเรื่องตามที่เจ้าหน้าที่เสนอมาตามลำดับชั้นและลงนามอนุมัติให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 175,237.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 154,060 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 175,237.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 154,060 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มีนายสุนทร ตันถาวร เป็นผู้ว่าการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา นายฤทธิ์รงค์ บุญจำนง ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 71-7300 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อชนเสาไฟฟ้าแรงสูงของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 154,060 บาท วันที่ 19 เมษายน 1542 นางกรรณิกา กระบวนรัตน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมายของโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระค่าเสียหาย วันที่ 8 กรกฎาคม 2542 นางกรรณิกามีหนังสือเตือนและยืนยันให้จำเลยชำระค่าเสียหาย วันที่ 6 สิงหาคม 2542 นางกรรณิกาทำบันทึกถึงผู้อำนวยการฝ่ายธุรการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ความเสียหายที่โจทก์ได้รับและขอดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ฝ่ายธุรการเสนอเรื่องดังกล่าวไปตามลำดับและผู้ว่าการลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะในปัญหาเรื่องอายุความว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ตามคำสั่งของโจทก์เรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองอำนวยการและกองกฎหมาย กำหนดไว้ชัดเจนว่ากองอำนวยการและกองกฎหมายมีอำนาจทวงถามและเร่งรัดหนี้ที่กองการเงินหรือหน่วยงานอื่นๆ ขอให้ดำเนินการ รวมทั้งดำเนินการฟ้องร้องสำหรับหนี้ที่มีปัญหา การที่นางกรรณิกาในฐานะผู้อำนวยการกองกฎหมายมีหนังสือทวงถามและยืนยันให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นการกระทำในนามของโจทก์ถึงบุคคลภายนอกคือเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในคำสั่งของโจทก์เท่ากับเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการและแทนผู้ว่าการ ถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วอย่างช้าตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันทวงถาม เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 4 สิงหาคม 2543 จึงเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งในระหว่างเกิดเหตุคดีนี้มีนายสุนทร ตันถาวร เป็นผู้ว่าการ นายสุนทรจึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การที่นางกรรณิกาซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายอันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าโจทก์รู้ด้วยหาได้ไม่ เพราะนางกรรณิกาไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ ส่วนคำสั่งของโจทก์เรื่องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองอำนวยการและกองกฎหมายให้ผู้อำนวยการกองกฎหมายมีอำนาจทวงถามหรือเร่งรัดหนี้นั้นเป็นเพียงคำสั่งกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภายในองค์กรของโจทก์เท่านั้น การที่นางกรรณิกามีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียนที่วางไว้ตามปกติ ไม่ใช่เป็นการกระทำแทนผู้ว่าการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะของตัวการตัวแทนอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ว่าการ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายสุนทร ผู้ว่าการของโจทก์ได้ทราบเรื่องตามที่เจ้าหน้าที่เสนอตามลำดับชั้นและลงนามอนุมัติให้ดำเนินคดีกับจำเลยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน