คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยแจ้งต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่า อ. พวกของจำเลยคือ ส. ทำบัตรประจำตัวประชาชนเดิมสูญหาย และวันเวลาเดียวกันนั้นจำเลยแจ้งให้ผู้เสียหายจดข้อความลงในคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนว่า บัตรประจำตัวประชาชนของ ส. สูญหาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ โดยจำเลยมีเจตนาเดียวก็เพื่อที่จะขอให้ผู้เสียหายออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ โดยจำเลยมีเจตนาเดียวก็เพื่อที่จะขอให้ผู้เสียหายออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ อ. ในชื่อของ ส. ให้ใหม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (1) เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และ 267 ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น ชอบแล้ว
จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเพื่อช่วยเหลือพวกของจำเลยด้วยการแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลย ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่ทางราชการจะออกให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการแล้ว ยังส่อแสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลยกับพวกที่มีเจตนาจะนำเอาบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งปรากฏชื่อของผู้อื่นไปใช้ในทางมิชอบ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วางโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษและใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 14
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแจ้งความเท็จ จำคุก 6 เดือน ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยแจ้งต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่า นายเอกรินทร์ สายอินต๊ะ พวกของจำเลยคือนายสายชล วงศ์จักร ทำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับเดิมสูญหายและวันเวลาเดียวกันนั้นจำเลยแจ้งให้ผู้เสียหายจดข้อความลงในคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนว่า บัตรประจำตัวประชาชนของนายสายชลสูญหาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ โดยจำเลยมีเจตนาเดียวก็เพื่อที่จะขอให้ผู้เสียหายออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายเอกรินทร์ในชื่อของนายสายชลให้ใหม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) เป็นกรรมเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเพื่อช่วยเหลือพวกของจำเลยด้วยการแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลย ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่ทางราชการจะออกให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการแล้ว ยังส่อแสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลยกับพวกที่มีเจตนาจะนำเอาบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งปรากฏชื่อของผู้อื่นไปใช้ในทางมิชอบ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วางโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษและใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share