แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน และเรียกค่าเสียหาย ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น โจทก์กับพวกต่างเคยนำคดีในทำนองเดียวกันกับคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นขอให้จำเลยในคดีนี้ร่วมกับกรมป่าไม้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนในผลตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องโจทก์กับพวกไว้พิจารณา โดยวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่ผู้ฟ้องยื่นฟ้องพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 51 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งเป็นความเห็นพ้องกับศาลปกครองสูงสุด กรณีมิใช่มีความเห็นแตกต่างกัน ศาลชั้นต้นไม่จำต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 10 และมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นกระทรวงในรัฐบาลมีสภาพเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โจทก์และจำเลยทำสัญญาสัมปทานโดยจำเลยอนุญาตให้โจทก์ทำไม้ป่าชายเลนในป่า ต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้มีคำสั่งให้โจทก์ระงับการทำไม้ป่าชายเลนตามเงื่อนไขสัมปทานไว้ก่อน แต่การยกเลิกสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 68 ทวิ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มิใช่อำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้ เมื่อจำเลยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ยอมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (4) แต่เหตุพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองกลางเปิดทำการ และศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 9 ว่า ศาลยุติธรรมมีอำนาจชำระคดีผิดสัญญาสัมปทาน หากศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมก็ขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคท้าย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,200,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า คดีของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 (4) มิใช่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม โจทก์นำคดีพิพาทนี้ฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 130/2546 ไม่รับคำฟ้องของโจทก์เนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีล่วงพ้นกำหนดเวลาฟ้องคดีตามมาตรา 51 กรณีไม่มีเหตุที่จะส่งเรื่องนี้ไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้และต่อมาในวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมเป็นไม่รับฟ้อง คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้แล้วเป็นไม่รับฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ขอให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน และเรียกค่าเสียหาย ย่อมเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (4) ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นโจทก์กับพวกรวม 12 คน ต่างเคยนำคดีในทำนองเดียวกันกับคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นขอให้จำเลยในคดีนี้ร่วมกับกรมป่าไม้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนในผลตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องโจทก์กับพวกไว้พิจารณา โดยวินิจฉัยว่า คดีโจทก์กับพวกเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม แต่การนำคดีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครองต้องเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 จากนั้นโจทก์จึงนำคดีดังกล่าวของตนมาฟ้องต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่าคดีโจทก์ อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่จำต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 เพราะศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยแล้วว่าคดีโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่มีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าพ้นกำหนดเวลาฟ้องคดี ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้มีความเห็นพ้องกับศาลปกครองสูงสุด กรณีมิใช่มีความเห็นแตกต่างกัน ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้แล้วเป็นไม่รับฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.