คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์แก้ไขใบรับรองแพทย์ซึ่งต้องยื่นต่อจำเลยตามระเบียบ เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ลาป่วย โดยเพิ่มวันที่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวขึ้นอีก1 วัน และได้ยื่นใบรับรองแพทย์ที่แก้ไขแล้วต่อจำเลยนั้น เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)ตอนท้าย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งพนักงานส่งของโจทก์ลาป่วยและแสดงใบรับรองแพทย์ จำเลยไม่เชื่อใบรับรองนั้น หาว่าโจทก์ขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วัน ได้เลิกจ้างโจทก์และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์เพราะขาดงานเกิน 3 วัน แต่เลิกจ้างเนื่องจากโจทก์กระทำการทุจริตปลอมเอกสารเพื่อประโยชน์ของวันหยุดโดยแก้วันที่และจำนวนวันที่แพทย์แนะนำให้หยุดงานในใบรับรองแพทย์ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ศาลแรงงานกลางฟังคำแถลงของโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาว่าโจทก์ปลอมเอกสารจริง แต่ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่อันจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โจทก์ลาป่วยตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2522 โดยแสดงใบรับรองแพทย์ 3 ฉบับต่อจำเลย เป็นหลักฐานตามระเบียบของจำเลย แพทย์เห็นควรให้หยุดพักรักษาตัวตามใบรับรองฉบับแรก 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2522ฉบับที่สอง 1 วัน คือวันที่ 9 มิถุนายน 2522 ฉบับที่สาม 2 วัน คือวันที่ 11ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2522 ใบรับรองแพทย์ฉบับที่สามเป็นเอกสารปลอมซึ่งโจทก์เป็นผู้กระทำเพื่อประโยชน์ในการลาป่วย โดยแก้ไขวันแพทย์ตรวจและวันที่แพทย์เห็นควรให้เริ่มหยุดพักรักษาตัวจากวันที่ 11 มิถุนายนเป็นวันที่ 10 มิถุนายน แก้จำนวนวันที่แพทย์เห็นควรให้หยุดพักรักษาตัวจาก2 วันเป็น 3 วัน เพราะเหตุที่โจทก์กระทำทุจริตดังกล่าวจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์แก้ไขใบรับรองแพทย์ซึ่งต้องยื่นต่อจำเลยตามระเบียบ เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ลาป่วย โดยเพิ่มวันที่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวขึ้นอีก1 วัน และได้ยื่นใบรับรองแพทย์ที่แก้ไขแล้วต่อจำเลยนั้น เป็นการกระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมการกระทำของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) ตอนท้าย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีดังกล่าวจึงกระทำได้โดยไม่ต้องใช้ค่าชดเชยให้โจทก์

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share