คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2328/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นพยานในคดีที่โจทก์ถูกฟ้องว่ากีดขวางลำบางทางน้ำสาธารณะ ได้เอาความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จมาเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดี โดยโจทก์บรรยายคำเบิกความของจำเลยอันมีใจความว่า ลำบางนั้นเป็นทางน้ำสาธารณะ และว่าความจริงเป็นลำบางหรือคูที่โจทก์ขุดขึ้นในที่ดินของโจทก์ บุคคลทั่วไปมิได้ใช้เรือผ่านไปมา ดังนี้ ข้อที่ว่าทางน้ำที่โจทก์ถูกฟ้องว่ากระทำการกีดขวางจะเป็นทางน้ำสาธารณะจริงหรือไม่นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าเป็นข้อสำคัญในคดี ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 แล้ว

ย่อยาว

คดีทั้ง ๓ สำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องทั้ง ๓ สำนวนทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้ง ๓ สำนวนสาบานตัวแล้วเบิกความเป็นพยานในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๒๒/๒๕๑๕ ของศาลชั้นต้น บังอาจเอาความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จมาเบิกความเป็นข้อสารสำคัญในคดีว่าโจทก์กีดขวางทางสาธารณะซึ่งเป็นทางลำบางทางน้ำสาธารณะ โดยจำเลยสำนวนที่ ๑ เบิกความว่า “เมื่อประมาณ ๒๕ ปีมานี้ ลำบางที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุก (ที่เกิดเหตุในคดีนั้น) เป็นทางน้ำไหล น้ำลึกประมาณ ๑ เมตรบ้าง ไม่ถึงบ้าง ถ้าฤดูน้ำหลากเรือแล่นเข้าออกได้ และประชาชนใช้ร่วมกัน ต่อมาได้มีการช่วยขุดลอกกันขึ้นเพื่อใช้เรือไปมาได้สะดวกจนกระทั่งบัดนี้” จำเลยสำนวนที่ ๒ เบิกความว่า “ลำบางที่เกิดเหตุเคยเห็นมานาน ๒๐ ปีเศษแล้ว เวลาน้ำขึ้นชาวบ้านใช้เรือผ่านไปมาได้ บางครั้งก็ใช้ลากไม้ เป็นการใช้ร่วมกัน เมื่อประมาณ ๑๐ ปีมานี้ ข้าพเจ้ากับจำเลย(หมายถึงโจทก์ในคดีนี้)และชาวบ้านอื่น ๆ ร่วมกันลอกลำบางที่เกิดเหตุเพื่อเอาเรือขนข้าวได้สะดวก” จำเลยสำนวนที่ ๓ เบิกความว่า “ลำบางที่เกิดเหตุแต่เดิมมีลักษณะเป็นลำขวด เป็นทางน้ำไหล เวลาน้ำขึ้นเรือผ่านไปมาได้ เวลาน้ำลงเรือก็ผ่านไปมาไม่ได้ เมื่อประมาณ ๑๐ ปีมาแล้วเห็นจำเลย(หมายถึงโจทก์ในคดีนี้)นายวิน ชูสุข กับชาวบ้านอื่น ๆ ประมาณ ๑๕ คนช่วยกันขุดลอกลำขวดนี้ เพื่อสะดวกในการใช้เรือผ่านไปมา เมื่อขุดลอกลำขวดจนเห็นเป็นลำบางเช่นทุกวันนี้แล้ว คนทั่วไปก็ใช้เรือผ่านไปมา”
ความจริงลำบางที่เกิดเหตุคดีนั้น มิใช้ลำบางทางน้ำสาธารณะ แต่เป็นลำบางหรือคูของโจทก์ขุดขึ้นในที่ดินของโจทก์ โดยขุดในพื้นดิน มิได้เป็นลำขวดหรือทางน้ำไหลมาก่อน และขุดขึ้นเพื่อประโยชน์ของที่ดินของโจทก์ กับเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของโจทก์บุคคลทั่วไปมิได้ใช้เรือผ่านไปมา การเบิกความเท็จของจำเลยทั้ง ๓ สำนวนเพื่อปรักปรำโจทก์ให้ศาลเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดในคดีนั้น ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ทั้ง ๓ สำนวนบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยต่างเบิกความอันเป็นเท็จ มิได้บรรยายข้อความเท็จนั้นเป็นข้อสารสำคัญอย่างไร ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๑๗๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ทั้ง ๓ สำนวน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้ง ๓ สำนวนเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้ง ๓ สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องทั้ง ๓ สำนวนว่า จำเลยแต่ละสำนวนเบิกความเป็นพยานในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๒๒/๒๕๑๕ ของศาลชั้นต้นจำเลยทั้ง ๓ สำนวนเอาความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จมาเบิกความเป็นข้อสารสำคัญในคดีว่าโจทก์กีดขวางทางสาธารณะซึ่งเป็นลำบางทางน้ำสาธารณะ โดยบรรยายว่าจำเลยแต่ละสำนวนเบิกความว่าอย่างไร และบรรยายด้วยว่าความจริงเป็นอย่างไร และข้อที่ว่าทางน้ำที่โจทก์ถูกฟ้องว่ากระทำการกีดขวางจะเป็นทางน้ำสาธารณะจริงหรือไม่นั้น ก็เป็นที่เข้าได้แล้วว่าเป็นข้อสำคัญในคดี การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้ง ๓ สำนวนจึงครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ และเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘ แล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๕๐/๒๕๑๕ ที่ ศาลชั้นต้นอ้างนั้นไม่ตรงกับรูปคดีนี้ เพราะคดีนั้นแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จว่าอย่างไร และบรรยายฟ้องด้วยว่าการเบิกความเท็จดังกล่าวของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดี แต่ข้อความอันเป็นเท็จที่จำเลยเบิกความดังที่โจท์บรรยายมาในฟ้องนั้นไม่พอฟังว่าเป็นข้อสำคัญในคดีอันควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
พิพากษายืน
(มงคล วัลยะเพ็ชร์ ยงยุทธ เลอลภ ผสม จิตรชุ่ม)

Share