คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 25 วรรคสอง และประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 บัญญัติว่า คำชี้ขาดของคณะบุคคล (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) นั้นให้เป็นที่สุด หมายความว่า เป็นคำชี้ขาดที่ถูกต้องตามที่กฎหมายให้อำนาจที่จะชี้ขาดเช่นนั้นได้ หากคำชี้ขาดใดไม่มีกฎหมายให้อำนาจ หรือปราศจากพยานหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ คำชี้ขาดนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นที่สุด ผู้ที่ได้รับความเสียหายเพราะคำชี้ขาดย่อมมีอำนาจฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องท้ายตามมาตรา 25 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องกล่าวอ้างว่า คำชี้ขาดจำเลยเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุผลเพียงพอในการทำคำวินิจฉัยแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่จะต้องรับไว้พิจารณาต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน
ให้โจทก์จ่ายเงินค่าครองชีพแก่ลูกจ้างคนละ ๒๐๐ บาทต่อเดือน ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและกฎหมายขอให้เพิกถอน หรือหากเห็นว่าต้องจ่ายก็ให้จ่ายไม่เกินคนละ ๕๐ บาทต่อเดือน
ศาลแรงงานกลางตรวจฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คำสั่งของจำเลยถึงที่สุดแล้ว ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๒๕ จึงไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามรูปคดีที่ปรากฏในคำฟ้อง แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง ในฐานะที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นคณะบุคคลคณะหนึ่งซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการทุกประเภทอันเกิดขึ้นในเขตจังหวัดปทุมธานีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๑ และมาตรา ๒๕ วรรคของของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า คำชี้ขาดของคณะบุคคลนั้นให้เป็นที่สุดก็ดี แต่คำชี้ขาดที่ให้เป็นที่สุดนั้น หมายความว่า เป็นคำชี้ขาดที่ถูกต้องตามที่กฎหมายให้อำนาจที่จะชี้ขาดเช่นนั้นได้หากคำชี้ขาดใดไม่มีกฎหมายให้อำนาจ หรือปราศจากพยานหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ คำชี้ขาดนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นที่สุด ผู้ที่ได้รับความเสียหายเพราะคำชี้ขาดย่อมมีอำนาจฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๔ วรรคสอง เมื่อพิเคราะห์ตามคำฟ้องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า คำชี้ขาดของจำเลยเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเหตุผลเพียงพอในการทำคำวินิจฉัยแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่จะต้องรับไว้พิจารณาต่อไป
พิพากษาให้ยกคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลแรงงานกลาง และให้รับฟ้องของโจทก์ไว้ ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share