แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ต้องยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษา เว้นแต่ไม่อาจยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าวโดยพฤติการณ์นอกเหนืออันไม่อาจบังคับได้ก็อาจยื่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่พฤติการณ์นั้นสิ้นสุดลงป.วิ.พ. มาตรา 208 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยอ้างเหตุว่าจำเลยไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเพราะ ว. ลูกจ้างจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่แผนกไปรษณีย์ได้ทุจริตช่วยเหลือโจทก์ โดยได้ยึดหน่วงหมายเรียกสำเนาฟ้องไว้ไม่ส่งให้หน่วยงานของจำเลยที่รับผิดชอบทราบเพื่อไม่ให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดี คำขอของจำเลยจึงเป็นการอ้างเหตุที่ไม่สามารถยื่นคำขอภายในกำหนดเพราะเหตุนอกเหนือไม่อาจบังคับได้จากการกระทำของ ว. เมื่อจำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนด 15 วันนับแต่พฤติการณ์นั้นสิ้นสุด คำขอของจำเลยจึงยื่นถูกต้องตามกฎหมายศาลแรงงานจะต้องรับคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไว้ทำการไต่สวนต่อไป.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยเพราะเหตุที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะเกษียณอายุ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลแรงงานกลางพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสามฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 82,500 บาท 38,520 บาทและ 54,360 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่นี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ให้ยกคำขอ
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ปรากฏว่า หลังจากมีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว โจทก์ทั้งสามได้ขอให้ศาลแรงงานกลางออกคำบังคับแก่จำเลย ศาลแรงงานกลางจึงได้ออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2532 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 การส่งคำบังคับโดยวิธีปิดหมายในคดีนี้มีผลเมื่อครบ 15 วันในวันที่ 9 กรกฎาคม 2532 เมื่อจำเลยจะยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 กล่าวคือจะต้องยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษา เว้นแต่ไม่อาจยื่นคำขอภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ก็อาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง ดังนั้นกำหนดเวลายื่นคำขอให้พิจารณาใหม่หลังจากส่งคำบังคับแล้วคือภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2532 แต่จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2532 เห็นว่า ตามคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยได้กล่าวอ้างว่า จำเลยไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเนื่องจากนายวัฒนา บูรณะอัตม์ ลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่แผนกไปรษณีย์ได้ทุจริตช่วยเหลือโจทก์ทั้งสาม โดยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วไม่ส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ แต่ยึดหน่วงเอกสารดังกล่าวไว้เพื่อไม่ให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีจำเลยไม่มีเจตนาขาดนัดพิจารณา พร้อมกับคัดค้านคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะจำเลยเป็นหน่วยงานที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกจากนี้จำเลยยังได้กล่าวอ้างในคำขอข้อ 4 ว่า เหตุที่จำเลยไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะจำเลยไม่เคยทราบรายละเอียดเรื่องราวที่โจทก์ทั้งสามฟ้อง จำเลยไม่เคยได้รับคำพิพากษาทั้งนี้เพราะการปฏิบัติงานโดยทุจริตของนายวัฒนา บูรณะอัตม์ จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2532 ได้รับดำเนินการตรวจสอบและติดตามหาเอกสารจึงได้รับคำบังคับของศาลแรงงานกลางในวันดังกล่าว คำขอของจำเลยจึงเป็นการอ้างเหตุที่ไม่สามารถยื่นคำขอภายในกำหนดเพราะพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จากการกระทำของนายวัฒนา บูรณะอัตม์ เมื่อจำเลยได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2532 อันเป็นการยื่นคำขอภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลงคำขอของจำเลยจึงยื่นถูกต้องตามกฎหมาย ศาลแรงงานกลางจะต้องรับคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไว้ทำการไต่สวนต่อไป การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำขอของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางรับคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไว้ทำการไต่สวนต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี.