คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนครสวรรค์-ตากฯ พ.ศ.2509บัญญัติให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมทางหลวงจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นจึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมทางหลวงและเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัตินี้
กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนให้ตกลงกันในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนตามมาตรา18,22,25, 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 จึงเห็นได้ว่ากรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีหน้าที่กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย
ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ประชุมกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 1000 บาท รวมเป็นเงิน 399,000 บาท โจทก์ตกลงยอมรับ และคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กับโจทก์ได้ทำสัญญาจ่ายเงินค่าทดแทนกันไว้แล้ว กรมทางหลวงจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามนั้น จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้อนุมัติตามข้อตกลง และยับยั้งไม่จ่ายเงินดังกล่าวหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2509 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาให้ใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ให้แก่กรมทางหลวง เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนครสวรรค์ – ตาก และที่ดินโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 11850 ได้ถูกเวนคืนคิดเป็นเนื้อที่ 3 งาน 99 ตารางวา ครั้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2512 คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย อันประกอบด้วยนายช่างแขวงการทางนครสวรรค์ผู้แทนกรมทางหลวงแผ่นดิน นายอำเภอเมืองนครสวรรค์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ ได้ทำสัญญากับโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงยอมจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 399,000บาท โจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินที่ถูกเวนคืนออกจากโฉนดเดิมให้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15พฤษภาคม 2512 จำเลยที่ 2 เป็นช่างแขวงการทางนครสวรรค์ได้เสนอเรื่องราวขอรับเงินค่าทดแทนของโจทก์ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวง สังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่ออนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามมติคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองขอผัดชำระเงินค่าทดแทนเรื่อยมาโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 399,000 บาท ตั้งแต่วันโอนที่ดินจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จึงขอให้จำเลยทั้งสองใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงสายนครสวรรค์ – ตาก มีอำนาจพิจารณาสั่งจ่ายเงินให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนจากมติคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะบันทึกตกลงเรื่องราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนได้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ก่อน โจทก์ทราบดีว่าบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำนวน 399,000 บาท ยังไม่มีผลบังคับและไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่ได้เสนอให้จำเลยที่ 1 เห็นชอบด้วยเสียก่อน และจำเลยทั้งสองไม่ใช่คู่กรณีหรือมีส่วนรู้เห็นในการทำบันทึกข้อตกลงนั้น คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกนั้นไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยทั้งสอง ทั้งจำเลยทั้งสองไม่เคยยอมจ่ายเงินหรือผัดการจ่ายเงินตามบันทึกท้ายฟ้องโดยจำเลยที่ 2 เพิ่งมาดำรงตำแหน่งนายช่างแขวงการทางนครสวรรค์ภายหลังทำบันทึกข้อตกลงท้ายฟ้องแล้ว และปรากฏว่าโจทก์เคยเสนอขอรับเงินค่าทดแทนจำนวนใหม่ โดยสละข้อตกลงในบันทึกท้ายฟ้องแล้ว ค่าทดแทนของโจทก์ที่มีสิทธิได้รับเงินตามที่จำเลยที่ 1 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ คือ110,922 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนตามสัญญาฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2512 เป็นเงิน 399,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2512 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 7,500 บาทแทนโจทก์ด้วยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นพับไป

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อปี 2509 มีพระบรมราชโองการให้ใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนครสวรรค์ – ตาก ในท้องที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมทางหลวง เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ นายช่างโทแขวงการทางนครสวรรค์ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ กับนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 11850 ได้ถูกเวนคืน เพื่อสร้างหลวงแผ่นดินสายดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ 3 งาน 99 ตารางวา กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้ประชุมกำหนดราคาทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ในอัตราตารางวาละ 1,000 บาท คิดเป็นเงินที่โจทก์จะได้รับเป็นค่าทดแทนทั้งสิ้น 399,000 บาท โจทก์ตกลงรับเงินค่าทดแทนจำนวนนี้ คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กับโจทก์จึงได้ทำสัญญาจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์

ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่ากรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีหน้าที่ไกล่เกลี่ย เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนให้ตกลงกันในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน ตามมาตรา 18,22, 25, 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่ากรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีหน้าที่กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วยโดยถือว่ากรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นอธิบดีกรมทางหลวงและเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2509 ดังนั้น เมื่อกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ประชุมกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ และโจทก์ยอมรับเอาค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และโจทก์ได้ทำสัญญาจ่ายเงินทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วนั้น จำเลยที่ 1จึงต้องผูกพันจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตามฟ้องจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้อนุมัติตามบันทึกข้อตกลงและยับยั้งไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องหาได้ไม่ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share