คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงเหตุของการเลิกจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่เป็นสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มาทำงานสายบ่อยครั้ง และบางครั้งหลังจากพักเที่ยง โจทก์กลับมาทำงานช้าหรือไม่กลับมาทำงานอีก ดังนี้เป็นเรื่องที่ลูกจ้าง ไม่มาทำงานให้แก่นายจ้างตามเวลาที่ นายจ้างกำหนด อันถือว่ามีเหตุสมควรที่ นายจ้างจะเลิกจ้างได้ การที่ จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 ได้แจ้งโจทก์ เป็นพนักงานประจำตำแหน่งพนักงานการเงินและบัญชี ได้รับเงินเดือนเดือนละ 9,600 บาท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2531 จำเลยได้ให้โจทก์ออกจากงานโดยไม่ให้เหตุผล อันเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ใช้ค่าชดเชย จำนวน 57,600 บาท และใช้ค่าเสียหายจำนวนเดือนละ6,600 บาท เป็นเวลา 10 ปี รวมเป็นเงิน 849,600 บาทกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าชดเชย จำนวน 57,600 บาทค่าเสียหายจำนวน 792,000 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 20,250 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 849,600 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ เป็นที่เสียหายแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ตักเตือนด้วยวาจาหลายครั้งแล้วโจทก์ไม่เคยปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่อาจให้โจทก์ร่วมทำงานด้วยต่อไป จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ตกลงกันเลิกสัญญาจ้างด้วยความสมัครใจ ที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้ยินยอมจ่ายค่าชดเชยรวมทั้งค่าเสียหายจำนวน 149,760 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กระทำการในนามจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันในฐานะนายจ้างลูกจ้าง โจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 2ในฐานะส่วนตัวให้รับผิดได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ มิใช่การเลิกจ้างในกรณีที่ระบุไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)ซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะการที่โจทก์มาทำงานสาย หรือหลังพักเที่ยงแล้วโจทก์กลับมาทำงานช้านั้น โจทก์ก็ได้ทำงานเรียบร้อยทันกำหนดเวลา มิได้ทำงานประจำในหน้าที่บกพร่องแต่ประการใด และมิได้กระทำการใด ๆ ให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ถึงหากจะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ก็มิใช่กรณีร้ายแรงทั้งจำเลยทั้งสองก็มิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อน จึงถือว่าการที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตามฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเลิกจ้างโดยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายกับการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง มีข้อพิจารณาแตกต่างกัน มิใช่ว่าถ้านายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างมิได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 แล้วจะต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมเสมอไปก็หาไม่การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่สำหรับกรณีของโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์มาทำงานสายบ่อยครั้งและบางครั้งหลังจากพักเที่ยงแล้ว โจทก์กลับมาทำงานช้าหรือไม่กลับมาทำงานอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกจ้างไม่มาทำงานให้แก่นายจ้างตามเวลาที่นาจ้างกำหนด อันถือว่ามีเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ การที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ในกรณีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ดังที่โจทก์อุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า บันทึกการรับเงินที่โจทก์จำเลยทำไว้ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำให้การว่า โจทก์ได้รับเงินจำนวน149,760 บาท จากจำเลยที่ 1 เป็นค่าชดเชยเต็มจำนวนและค่าเสียหายอื่น ๆ แล้วนั้น เป็นการให้โจทก์สละสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าชดเชยโดยมิได้เกิดจากความสมัครใจของโจทก์ และเงินตามจำนวนที่โจทก์ได้รับตามบันทึกดังกล่าวนั้น เป็นเงินทำขวัญลูกจ้าง เมื่อออกจากงานและเงินทุนสะสม หาใช่เป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานไม่โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ได้รับเงินจำนวน 149,760 บาท เป็นค่าชดเชยเต็มจำนวนรวมค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วยแล้ว ซึ่งโจทก์จำเลยได้ทำบันทึกการรับเงินไว้ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำให้การ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงเป็นการขอให้ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์ยังไม่ได้รับค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสองเมื่อเลิกจ้าง อันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…”
พิพากษายืน.

Share