แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยอ้างเอกสารคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวน เพื่อจับเท็จว่าพยานโจทก์ขัดแย้งกัน แต่คำให้การนั้นกลับทำให้คำพยานโจทก์ชั้นศาลน่าฟังยิ่งขึ้น ศาลไม่พึงนำคำให้การนั้นไปประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ว่าพยานโจทก์ฟังได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 76, 92, 102 จำคุก 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ริบของกลาง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ฎีกาของจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อ 4 อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งจำเลยอ้างว่าศาลนำพยานหลักฐานของจำเลยเอง คือเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 มาฟังลงโทษจำเลยเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งร่วมกันจับกุมจำเลยคดีนี้มี 3 คน แต่โจทก์นำสืบเป็นพยานเพียง 2 คน คือ ร้อยตำรวจตรีรังสรรค์ กาญจนรัตน์ และพลตำรวจสมจิตร ประไพศิลป์ ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า “โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่าบนระเบียงบ้านซึ่งเป็นจุดที่จำเลยทั้งสองนั่งอยู่และถูกจับกุม มีจำเลยนั่งอยู่เพียง 2 คนเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ขึ้นไปจับกุมได้เห็นจำเลยคนหนึ่งรีบขยี้บุหรี่ที่กำลังสูบ และเห็นจำเลยอีกคนหนึ่งนำของใส่กระเป๋าเสื้อ ร้อยตำรวจตรีรังสรรค์จึงตรวจค้น พบกัญชา 2 แท่ง และก้นบุหรี่ที่ดับก็มีเศษกัญชาผสมอยู่ ข้อเท็จจริงที่ตำรวจผู้จับกุมตรวจพบกัญชาของกลางดังกล่าว ศาลเห็นว่า แม้ในชั้นพิจารณาตำรวจผู้จับกุมจะไม่อาจระบุตัวจำเลยได้แน่นอนว่าค้นกัญชาจากจำเลยคนใดแน่ แต่เมื่อพิเคราะห์คำให้การชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยขอให้ศาลเรียกมาตามเอกสารหมาย ล.6 ล.7 (ล.6 คือคำให้การของร้อยตำรวจตรีรังสรรค์ ล.7 คือคำให้การของพลตำรวจสมจิตร) ความก็ปรากฏชัดเจนตรงกัน และน่ารับฟังว่าเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตรวจพบกัญชาของกลางจริง ทั้งบนระเบียงบ้านขณะจับกุม ก็มีจำเลยทั้งสองนั่งอยู่ลำพังเพียง 2 คน จึงไม่มีทางให้วินิจฉัยได้เป็นอย่างอื่นว่ากัญชาของกลางมิใช่เป็นของจำเลยทั้งสอง” ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยอ้างคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์มาสืบในคดีอาญาเช่นนี้ ก็เพื่อจับเท็จพยานโจทก์ว่าเบิกความขัดแย้งกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน เมื่อผลไม่เป็นดังที่จำเลยคาดหมาย คำให้การนั้นกลับทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ศาลก็ไม่พึงนำคำให้การดังกล่าวไปประกอบพยานหลักฐานของโจทก์เพื่อวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ แต่ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นก็ยังไม่อาจถือได้ว่านำพยานหลักฐานของจำเลยเองไปฟังลงโทษจำเลย เพราะฝ่ายโจทก์ก็มีพยานหลักฐานของตนเป็นหลักอยู่แล้ว และไม่ใช่กรณีที่มีความสงสัยตามสมควรอยู่ว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ แล้วศาลนำพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยไปเพิ่มเติมแก่พยานหลักฐานของโจทก์เพื่อให้ลงโทษจำเลยได้ ทั้งไม่นับว่าเป็นกรณีที่โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานโดยปริยายดังที่จำเลยกล่าวในฎีกา กรณีแห่งคดีนี้ยังไม่อาจถือได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยวินิจฉัยพยานหลักฐานขัดต่อหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”
พิพากษายืน