แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดโทษให้ผู้กระทำความผิดฐานพยายามต้องระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นผลร้ายแก่จำเลย เพราะทำให้จำเลยต้องรับโทษสูงขึ้นกว่าการกระทำความผิดขั้นพยายามทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตรา 7ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ จึงนำมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาลงโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 4,600 เม็ด น้ำหนักรวม 419.417 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 83.814 กรัม และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 1,000 เม็ด ให้แก่ผู้ล่อซื้อในราคา 100,000 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง แต่มิได้มีไว้เพื่อจำหน่ายและมิได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง,66 วรรคหนึ่ง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 7 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย วางโทษจำคุก 40 ปี ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน วางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 20 ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 60 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลงโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 30 ปีริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง),66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้จำคุกจำเลย 13 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกของจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 40 ปีแล้ว เป็นจำคุกจำเลย53 ปี 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 26 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกันมาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจโทบวร สุภิสิงห์ กับพวกได้ให้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,000 เม็ด ราคาเม็ดละ 100 บาท รวมเป็นเงิน100,000 บาท จากจำเลย นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนที่หน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่อยู่ปากซอยตลาดโพธิ์ทองหรือซอยโอ๋เอ๋ เวลา 21 นาฬิกามอบกระดาษซึ่งตัดให้มีขนาดเท่าธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท เป็นจำนวน100,000 บาท ใส่ถุงกระดาษให้สายลับไปล่อซื้อโดยนัดแนะว่า หากจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนให้สายลับส่งสัญญาณโดยใช้มือเกาศีรษะ จากนั้นร้อยตำรวจโทบวรกับพวกได้ไปที่ร้านดังกล่าวโดยให้สายลับยืนรออยู่ที่หน้าร้าน จนกระทั่งเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยได้มาพูดกับสายลับประมาณ 5 ถึง 10 นาที สายลับก็ใช้มือเกาศีรษะให้สัญญาณร้อยตำรวจโทบวรกับพวกซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้นก็เข้าไปแสดงตัวและตรวจค้นตัวจำเลยพบเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด จำเลยยอมรับในชั้นจับกุมว่าเตรียมเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่าย จากนั้นได้นำจำเลยไปค้นที่ห้องพักของจำเลยพบเมทแอมเฟตามีนอีก 3,600 เม็ด ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกันมาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมก่อนส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,000 เม็ด ให้แก่สายลับ การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น ศาลชั้นต้นจะพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 7 โดยโจทก์ไม่ได้ ขอให้ลงโทษจำเลยมาท้ายฟ้องด้วยได้หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดโทษให้ผู้กระทำความผิดฐานพยายามต้องระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นผลร้ายแก่จำเลย เพราะทำให้จำเลยต้องรับโทษสูงขึ้นกว่าการกระทำความผิดขั้นพยายามทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตรา 7ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ดังนั้น จะนำมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาลงโทษจำเลยไม่ได้”
พิพากษายืน