คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2314/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายแล้วดูหมิ่นผู้เสียหายในทันทีทันใดนั้น เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาอันแท้จริงเพื่อดูหมิ่นผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว. เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลย
สำหรับความผิดฐานบุกรุก เมื่อศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 แล้ว ก็ไม่จำต้องยกมาตรา 362, 364 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๗ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายหละ หนองสิงห์ ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข (ข) จำเลยได้ดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้าขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕, ๓๙๓, ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕, ๓๙๓, ๙๑ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ จำคุก ๑ ปี ปรับ ๒,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ เดือนปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายแล้วดูหมิ่นผู้เสียหายในทันทีทันใด อันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาอันแท้จริงเพื่อดูหมิ่นผู้เสียหาย ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ซึ่งบัญญัติให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลย แม้โจทก์จะแยกบรรยายการกระทำผิดของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ ก. และข้อ ข. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และจำเลยได้ให้การรับสารภาพก็ตามศาลจะลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ได้ สำหรับความผิดฐานบุกรุกที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๖๕ แล้ว ก็ไม่จำต้องยกมาตรา ๓๖๒, ๓๖๔ ขึ้นปรับบทลงโทษอีก
พิพากษาแก้ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกเป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share