คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2312/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง การที่โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 83 แห่ง ป.อ. หาทำให้คำฟ้องบกพร่องจนศาลไม่อาจจะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ไม่ เพราะตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี… (6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด…” ซึ่ง ป.อ. มาตรา 83 มิใช่บทมาตราที่กฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดแล้ว แม้จะไม่ได้ระบุมาตรา 83 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานตัวการร่วมกันกระทำความผิดได้
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดองค์ประกอบความผิด แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษฐานดังกล่าว โดยอ้างมาตรา 4, 19 แห่ง พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ฯ มาด้วย ศาลฎีกาไม่สามารถลงโทษได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพและมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 13, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนี ด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 47, 48, 69 วรรคแรก, 73 วรรคแรก, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำ ไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันแปรรูป ไม้หวงห้ามประเภท ก. จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อจำกัด กับฐานมีหรือนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานมีหรือนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 17 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 เดือน จำเลยทั้งสองให้การ รับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 เดือน ริบของกลางทั้งหมด
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 73 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ฐานร่วมกันมีไม้อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก ฐานร่วมกันทำไม้ ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ และฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 4 ปี 7 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เนื่องจากโจทก์มิได้อ้างบทมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำไม้ไข่เขียว ซึ่งเป็นไม้ หวงห้ามประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เลื่อยโซ่ยนต์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเลื่อยไม้ โค่นต้นไม้ไข่เขียว จำนวน 1 ต้น จากนั้นได้ร่วมกันแปรรูปไม้ไข่เขียวโดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเลื่อยไม้ไข่เขียวออกเป็นท่อน ๆ และร่วมกันมีไม้ไข่เขียวซึ่งมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสอง กับร่วมกันลักลอบนำเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ โดยยังมิได้เสียภาษีและยังมิได้ผ่านด่านศุลกากร หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งเครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง การที่โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หาทำให้คำฟ้องบกพร่องจนศาลไม่อาจจะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ไม่ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี… (6) อ้างมาตรา ในกฎหมาย ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด…” ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มิใช่บทมาตราที่กฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดแล้ว แม้จะไม่ได้ระบุมาตรา 83 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานตัวการร่วมกันกระทำความผิดได้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำไม้และแปรรูปไม้ได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วทำการตัดโค่นไม้ไข่เขียว ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์เลื่อยไม้ไข่เขียวให้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และร่วมกันมีไม้ไข่เขียวอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสองโดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง หรือรอยตรารัฐบาล และจำเลยทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมายถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง และจำเลยทั้งสองทำไม้ของกลางมีปริมาตรรวม 19.64 ลูกบาศก์เมตร นับเป็นจำนวนมาก การกระทำ ของจำเลยทั้งสองเป็นภัยต่อทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระเลี้ยงดูครอบครัว ก็ไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาวางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนลดโทษมีกำหนด 8 ปี นั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี
สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมี ผลิต หรือนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์” โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดองค์ประกอบความผิด แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษฐานดังกล่าว โดยอ้างมาตรา 4, 17 แห่งพระราชบัญญัติ เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาด้วย ศาลฎีกาไม่สามารถลงโทษได้ ปัญหาดังกล่าวเป็น ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพ และมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่จำเลยทั้งสองยังมีความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนีด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ เหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบกับมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คนละ 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันทำไม้ ฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหนีด่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 1 ปี 13 เดือน ให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่รับใบอนุญาต นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share