แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 64 บัญญัติให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไว้ให้ถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาย่อมมีความหมายว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 มีอำนาจสืบสวน ตรวจค้น จับกุมและยึดสิ่งของใดที่มีไว้ ได้มา ได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ก่อนมี การสอบสวนเท่านั้นไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ด้วย จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนแต่เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ในเขตท้องที่ที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสาม มิได้หมายความว่า เจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่คนใดหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ยึดสิ่งของนั้นไว้ตั้งแต่แรกจะต้องเป็นผู้ยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุดด้วยไม่ โดยขั้นตอนต่อไปในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำหลังจากมีการยึดสิ่งของที่สงสัยว่าได้มาหรือมีไว้โดยผิดกฎหมายแล้ว ย่อมต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนก็จะมีอำนาจหน้าที่ ทำการสอบสวนคดีที่ได้ร้องทุกข์ไว้และถ้าเห็นว่าสิ่งของที่ผู้จับกุมหรือ ตรวจค้นยึดได้นั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดได้ ก็จะสั่งยึดเป็นของกลางในคดีนั้นต่อไป กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานผู้ยึดสิ่งของนั้นไว้ในชั้นตรวจค้นหรือจับกุมก็ไม่มีอำนาจใดที่จะยึดสิ่งของนั้นไว้อีกได้ ส่วนข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยผู้ดูแลราชการกรมตำรวจในขณะนั้นกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ดูแลราชการกรมป่าไม้ เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ และระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้พ.ศ. 2533 ที่ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำหรับ ของกลางที่ตรวจยึดได้ในคดีความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ทุกชนิด ยกเว้นของกลาง ที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ต้องมอบให้พนักงานสอบสวนเก็บรักษาและ ดำเนินการ ไม่ใช่กฎหมายเป็นเพียงข้อตกลงที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการ ปฏิบัติงานระหว่างหน่วยราชการซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องต่อกันและ สอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แม้กฎหมายและระเบียบกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในการคืนของกลางให้แก่เจ้าของเมื่อพนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือให้จำเลยที่ 2ดำเนินการกับของกลางในส่วนที่ศาล มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบหรือไม่ริบของกลางก็เป็นกระบวนการในการบังคับคดี ไม่เกี่ยวกับการยึดของกลางไว้ในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาของศาล การที่จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาไม้ของกลางในระหว่างการสอบสวน จึงเป็น การกระทำการแทนพนักงานสอบสวน กรณียังไม่เป็นที่พอใจว่าคำฟ้องโจทก์ ที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดไม้สักของกลางมีมูล ไม่อาจอนุญาตให้นำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามที่โจทก์ ขอมาใช้บังคับได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องมีใจความว่าเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2540 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2541 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ตรวจค้นและอายัดไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อน ของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหามีไม้สักท่อนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 และทำการยึดไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อน (ปัจจุบันเหลือไม้สักท่อนจำนวน 9,302 ท่อน และไม้สักแปรรูปจำนวน 5,576 เหลี่ยม) ของโจทก์ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดไม้สักท่อนและไม้สักแปรรูปดังกล่าวของโจทก์ ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดไม้จำนวนดังกล่าวของโจทก์ โดยโจทก์ขอวางหลักประกันเป็นเงิน 150,000,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ไม้สักท่อนจำนวนดังกล่าวเป็นไม้ที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตรวจสอบพบว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยมีการแจ้งหลักฐานออกใบเบิกทางนำไม้คลื่อนที่อันเป็นเท็จ จึงทำการยึดไว้ และจำเลยที่ 2 ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านตากจังหวัดตากเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่กระทำผิดฐานร่วมกันมีไม้สักท่อนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์และยึดไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อน ไว้เป็นของกลางในคดีอาญาขณะนี้คดีอาญาอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ไม้สักท่อนดังกล่าวจึงตกอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนซึ่งยึดไว้เป็นของกลาง เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญแห่งคดีในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล หากศาลสั่งถอนการอายัดและโจทก์รับไม้สักท่อนของกลางไปทำการแปรรูปจำหน่าย จ่ายโอน ก็จะไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดของผู้กระทำผิด และถ้าศาลมีคำพิพากษาให้ริบไม้สักท่อนของกลางในที่สุด ก็ย่อมไม่มีไม้สักท่อนของกลางให้ริบหลักทรัพย์หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์จะวางต่อศาลไม่ใช่ของกลางที่ศาลจะริบได้ขอให้ยกคำร้อง
ก่อนไต่สวนคำร้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดของจำเลยที่ 2โดยให้โจทก์วางหลักประกันจำนวน 150,000,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามทางไต่สวน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างวันที่ 9ธันวาคม 2540 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2541 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ร่วมตรวจสอบไม้สักท่อนจำนวนมากที่กองอยู่บริเวณหมอนไม้ของโจทก์ หมู่ที่ 5 ตำบลตากออกอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก และเชื่อว่าหลักฐานใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ของไม้สักท่อนเหล่านั้นเป็นเท็จ จึงกล่าวหาโจทก์ว่ามีไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและได้มีการยึดไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อนดังกล่าว ซึ่งมีปริมาตร 15,085.83 ลูกบาศก์เมตร ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มอบให้จำเลยที่ 1ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านตาก จังหวัดตากเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดฐานร่วมกันมีไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านตากรับคำร้องทุกข์และยึดไม้สักท่อนจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของกลางในคดี ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 ลำดับที่ 4 คดีที่ 49/41 ยึดทรัพย์ที่ 32/41 ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านตาก คดีอาญาอยู่ในระหว่างการสอบสวน โดยในระหว่างการอายัดก่อนมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โจทก์ได้รับอนุญาตให้นำไม้สักท่อนที่ถูกอายัดไว้จำนวนหนึ่งไปแปรรูปได้เป็นไม้สักแปรรูปจำนวน 5,576 เหลี่ยม และคงเหลือไม้สักท่อนจำนวน 9,302 ท่อน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสมควรอนุญาตให้นำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามที่โจทก์ขอมาใช้บังคับหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แม้พนักงานสอบสวนจะรับคำร้องทุกข์และยึดไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อน ไว้เป็นของกลางในคดีอาญาแต่ไม้สักท่อนของกลางดังกล่าวยังอยู่ในอำนาจการดูแลรักษาและการจัดการของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 64 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสามข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เป็นเพียงผู้เก็บรักษาไม้สักท่อนของกลางไว้แทนพนักงานสอบสวนเท่านั้น เห็นว่า ในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนมาตรา 121 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง และตามมาตรา 2(6) ให้คำนิยามไว้ว่า พนักงานสอบสวน หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 แม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 64 จะบัญญัติให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไว้ว่า ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ที่เกี่ยวกับความผิดอาญา ให้ถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมมีความหมายว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 มีอำนาจสืบสวนตรวจค้น จับกุม และยึดสิ่งของใดที่มีไว้ ได้มา ได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ก่อนมีการสอบสวนเท่านั้น ไม่มีกฎหมายใด บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนด้วย ฉะนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนคดีนี้ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านตาก ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในเขตท้องที่ที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 บัญญัติถึงหน้าที่ของพนักงานสอบสวนว่า ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด และมาตรา 132 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้ (4) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดังกล่าวไว้ในอนุมาตรา (2 ) และ (3) ซึ่งหมายถึงว่าสิ่งของใดที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดพนักงานสอบสวนมีอำนาจยึดและรวบรวมเก็บรักษาไว้แต่มิได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะยึดได้เฉพาะสิ่งของที่ได้มาด้วยการค้นหรือหมายเรียกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 132(2) และ (3) เท่านั้น สำหรับบทบัญญัติที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานผู้จับกุมยึดสิ่งของต่าง ๆ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสาม ที่ว่าสิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น นั้น มิได้หมายความว่า เจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่คนใดหรือของหน่วยงานใดเป็นผู้ยึดสิ่งของนั้นไว้ตั้งแต่แรกจะต้องเป็นผู้ยึดจนกว่าคดีถึงที่สุดดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ขั้นตอนต่อไปในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดหลังจากมีการยึดสิ่งของที่สงสัยว่าได้มาหรือมีไว้โดยผิดกฎหมายแล้ว ย่อมจะต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนก็จะมีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนคดีที่ได้ร้องทุกข์ไว้และถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าสิ่งของที่ผู้จับกุมหรือตรวจค้นยึดได้นั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดได้ พนักงานสอบสวนก็จะสั่งยึดเป็นของกลางในคดีนั้นต่อไป และถ้าหากว่าพนักงานสอบสวนเห็นว่าสิ่งของนั้นไม่ใช่พยานหลักฐานอันจำเป็นในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิด ก็อาจไม่สั่งยึดสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางก็ได้ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานผู้ยึดสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางก็ได้ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานผู้ยึดสิ่งของนั้นไว้ในชั้นตรวจค้นหรือจับกุมก็ไม่มีอำนาจใดที่จะยึดสิ่งของนั้นไว้อีกได้ การมีไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อน ของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ไม้ของกลางย่อมเป็นหลักฐานสำคัญแห่งองค์ความผิดที่จะทำให้ทราบข้อเท็จจริง ตลอดจนพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาและเพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านตากรับคำร้องทุกข์จากจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งให้ยึดไม้สักท่อนจำนวน 13,215 ท่อน เป็นของกลางในการสอบสวนคดีอาญาแล้ว ก็ถือได้ว่าไม้สักท่อนของกลางดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมไว้เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด ข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยผู้ดูแลราชการกรมตำรวจในขณะนั้น กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ดูแลราชการกรมป่าไม้จำเลยที่ 2 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ ซึ่งให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 และระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ พ.ศ. 2533 ที่ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำหรับของกลางที่ตรวจยึดได้ในคดีความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ทุกชนิด ยกเว้นของกลางที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ต้องมอบให้พนักงานสอบสวนเก็บรักษาและดำเนินการนั้น ไม่ใช่กฎหมาย เป็นเพียงข้อตกลงที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยราชการซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องต่อกันและสอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ แม้กฎหมายและระเบียบที่ออกมาจะกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในการคืนของกลางให้แก่เจ้าของเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการกับของกลางในส่วนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบหรือไม่ริบของกลางก็เป็นกระบวนการในการบังคับคดี ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งไม่เกี่ยวกับการยึดของกลางไว้ในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาของศาล การที่จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาไม้ของกลางในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำการแทนพนักงานสอบสวน ศาลฎีกาเห็นว่ากรณียังไม่เป็นที่พอใจว่า คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดไม้สักของกลางมีมูล จึงไม่อนุญาตให้นำวิธีคุ้มครองชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาตามที่โจทก์ขอมาใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน