แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเพียงปากเดียวเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย แต่ในชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกระทำผิดด้วย ทั้งได้นำชี้ ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ถึง 2 ครั้ง กับยังปรากฏด้วยว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำอาวุธปืนลูกซองสั้นไปฝากบุคคลอื่นไว้ อาวุธปืนกระบอกนี้เมื่อนำมาพิสูจน์เปรียบเทียบกับปลอกกระสุนปืนลูกซองที่พบในที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าเป็นปลอกกระสุนปืนที่ยิงมาจากอาวุธปืนกระบอกดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงประกอบกันมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ร่วมกระทำความผิดดัง โจทก์ฟ้อง เมื่อคำเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นที่น่าสงสัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 340, 340 ตรี, 80, 83, 84 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯมาตรา 7, 72 ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 163,000 บาทแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80, 240, 340 ตรี, 83 และจำเลยที่ 1มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 อีกระทงหนึ่งลงโทษตามมาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนักให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 2 และลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำคุก 1 ปีจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษในความผิดตามมาตรา 289ให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต และลดโทษในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนให้หนึ่งในสามเหลือจำคุก 8 เดือน รวมโทษแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้องปากกาและสมุดเช็คเป็นของนายบุญเลิศผู้ตาย คืนให้เจ้าของไป ของกลางอื่นนอกจากที่เจ้าของรับคืนไปแล้วนั้นให้ริบ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 163,000 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่…นอกจากนางแสงจันทร์จะเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายดังกล่าวแล้วยังได้ความจากนายปารีส กวิ สามีของนางแสงจันทร์ว่า หลังจากเกิดเหตุแล้ว 1 วัน ขณะที่นางแสงจันทร์รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าจังหวัดจันทบุรี นั้น นายปารีสได้สอบถามว่าจำคนร้ายได้หรือไม่ขณะนั้นนางแสงจันทร์ยังพูดไม่ได้ นางแสงจันทร์ได้เขียนหนังสือตอบว่าเห็นหน้าคนร้าย 1 คน เห็นหน้าอีกจำได้ ส่วนนอกนั้นไม่เห็นหน้า หลังจากเกิดเหตุแล้ว 3 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวนว่าได้ร่วมกระทำความผิดในครั้งนี้ด้วย…ทั้งจำเลยที่ 1 ได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ถึง 2 ครั้ง…หลังจากเกิดเหตุแล้วปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้นำอาวุธปืนลูกซองสั้นพร้อมด้วยกระสุนปืนลูกซอง 6 นัดไปฝากนางสาวยมนา ชุ่มกมล ไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดอาวุธปืนและกระสุนปืนนั้นมาเป็นของกลาง และส่งไปพิสูจน์เปรียบเทียบกับปลอกกระสุนปืนลูกซองที่พบในที่เกิดเหตุ ผลของการพิสูจน์ปรากฎว่าปลอกกระสุนลูกซองที่พบในที่เกิดเหตุนั้นยิงไปจากอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ฝากนางสาวยมนาไว้ พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันมั่นคงฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิด
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปก็คือ จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่ นางแสงจันทร์ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 คือคนร้ายที่เดินคุมผู้เสียหายไปข้างหลัง นางแสงจันทร์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เพราะเคยเห็นหน้ามาก่อนที่ตลาดตกพรมดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่คดีได้ความจากนางเกษมสุข อิ่มผ่อง พยานโจทก์ซึ่งเป็นมารดาของนางสาวปราณีผู้ตายและนางแสงจันทร์ผู้เสียหายว่าเมื่อนางแสงจันทร์รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรีนั้น นางเกษมสุขได้ไปเยี่ยมและสอบถามว่าใครเป็นคนร้าย นางแสงจันทร์ตอบโดยเขียนเป็นหนังสือว่าจำไม่ได้ เพราะคนร้ายใช้ผ้าคลุมหน้าและได้ความจากนายปารีสสามีของนางแสงจันทร์ว่า ขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้านั้นนางแสงจันทร์ได้เคยบอกนายปารีสไว้ว่าเห็นหน้าคนร้าย 1 คน ส่วนคนร้ายนอกนั้นไม่เห็นหน้าเพราะถูกบังคับไม่ให้มองหน้า การที่นางแสงจันทร์บอกนางเกษมสุขมารดาของตนและนายปารีสสามีไปเช่นนั้น นางแสงจันทร์เบิกความอ้างว่า เพราะกลัวจะถูกทำร้ายและคนร้ายจะไหวตัว ความจริงแล้วตนจำคนร้ายได้หมดทุกคน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายปารีสเป็นสามีของนางแสงจันทร์เป็นผู้ที่ควรจะไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ การที่นางแสงจันทร์บอกกับนายปารีสสามีของตนดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ก็บอกในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงพร้อมกับอ้างเหตุผลประกอบมิได้มีข้อแม้เงื่อนไขหรือกำชับให้ปกปิดเป็นความลับแต่อย่างใด ฉะนั้นที่นางแสงจันทร์ผู้เสียหายเบิกความว่าจำคนร้ายที่เดินคุมไปข้างหลังได้ทั้ง 2 คน โดยมีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วยนั้น จึงขัดกับถ้อยคำที่นางแสงจันทร์ได้เคยบอกกับนายปารีสสามีของตนไว้ว่าเห็นหน้าคนร้ายเพียงคนเดียวดังกล่าวข้างต้นพยานหลักฐานโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 มีเหตุอันควรสงสัยต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.