คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2307/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายกับจำเลยเช่าบ้านหลังเดียวกัน แต่อยู่คนละห้อง วันเกิดเหตุผู้เสียหายไม่อยู่ จำเลยเข้าไปในห้องรับแขกนอนอ่านหนังสือพิมพ์บนเก้าอี้นวม น้องผู้เสียหายอยู่บ้านแต่ก็มิได้ห้ามปรามจำเลย จำเลยลักนาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายซึ่งวางอยู่บนตู้โชว์ติดกับเก้าอี้นวมไปดังนี้ การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้โดยปริยายการลักทรัพย์มิใช่ลักในเคหสถาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วลักเอานาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้และได้นาฬิกาข้อมือดังกล่าวซึ่งจำเลยทิ้งไว้ ทั้งนี้ โดยจำเลยลักทรัพย์หรือรับของโจรนาฬิกาข้อมือของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8), 357

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(8) จำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 จำคุก 1 ปี

โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายกับจำเลยเช่าบ้านหลังเดียวกันแต่คนละห้อง มีบันไดขึ้นลงคนละทาง ทั้งสองฝ่ายชอบพอกัน ตามปกติจำเลยมาหาผู้เสียหายเสมอ เคยขึ้นไปห้องรับแขก ผู้เสียหายไม่เคยห้ามปรามถ้าผู้เสียหายไม่อยู่จำเลยก็มาคุยกับนางสาวหนับน้องสาวผู้เสียหาย วันเกิดเหตุผู้เสียหายไม่อยู่ จำเลยก็มาบ้านผู้เสียหาย เข้าไปในห้องรับแขก นอนบนเก้าอี้นวมอ่านหนังสือพิมพ์ เก้าอี้นวมอยู่ติดกับตู้โชว์ ผู้เสียหายวางนาฬิกาที่จำเลยลักไว้บนตู้โชว์ ในขณะนั้นนางสาวหนับอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ห้ามปรามจำเลย เห็นว่าการที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเป็นการได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้โดยปริยายจำเลยไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตามมาตรา 335(8) ดังฟ้อง

พิพากษายืน

Share