คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 151, 157, 83 ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นบทความผิดเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ความผิดในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 151 จำเลยที่ 2 คงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ดังนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ซึ่งไม่เกินห้าปี จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 151, 157
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 3 ปี และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 83 ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง และปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นบทความผิดเฉพาะแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ความผิดในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะเห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จำเลยที่ 2 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนี้ การพิพากษาแก้ของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นแต่เพียงการปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ซึ่งไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการและลงนามในบันทึกข้อตกลงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมพัสดุ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ในการรับหนังสือแล้วสรุปนำเสนอหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาและกระทำไปโดยสุจริตโดยชอบด้วยกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดงไม่ได้รับความเสียหาย และศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับฟังบันทึกปากคำของพยานโจทก์ที่ให้ไว้ต่อพนักงานไต่สวนในชั้นไต่สวนของกรรมการไต่สวนมาลงโทษจำเลยเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาดังกล่าวล้วนเป็นฎีกาที่มีลักษณะโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาส่วนนี้ของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำความเสียหายโดยบุคคลใดและได้รับความเสียหายอย่างไร ตามองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 เมษายน 2552 เวลากลางวัน ถึงประมาณเดือนสิงหาคม 2552 เวลากลางวันต่อเนื่องกันมาตลอด วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ทำ จัดการ รักษาทรัพย์ และดูแลควบคุมพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดงใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดงเจ้าของทรัพย์ และได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กล่าวคือ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงเลขที่ 8/2558 ลงวันที่ 2 เมษายน 2552 เพื่อตกลงให้ดำเนินการขุดดินและถมดินในที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง ระหว่างจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด พิษณุโลกวิวัฒน์พัฒนาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการกับองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง ตกลงอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิษณุโลกวิวัฒน์พัฒนาเข้ามาขุดและขนดินขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง โดยไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนใด ๆ ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง โดยเพียงระบุให้ทำการถมดินหลุมด้านทิศตะวันตกของอาคารขนาดกว้าง 50×30 เมตร ลึกเฉลี่ย 3 เมตร และทำการปรับเกรดบริเวณที่ขุดและขนดินออกไปให้มีสภาพเสมอกันทั้งบริเวณให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ปรากฏมีการถมดินหลุมและปรับเกรดที่ขุดดินออกไปแต่อย่างใด อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำโดยทุจริตและเป็นการดำเนินการไปโดยฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2547 และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ ตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทยเป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดงได้รับความเสียหาย ต้องสูญเสียปริมาตรดินที่ถูกขุดและขนดินไปทั้งหมดรวมประมาณ 18,025 ลูกบาศก์เมตร คิดราคาลูกบาศก์เมตรละ 10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 180,250 บาท เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดงต้องสูญเสียเงินงบประมาณในการปรับสภาพพื้นที่บริเวณที่มีการขุดและขนดินออกไปให้ราบเรียบเสมอกันเป็นจำนวนเงิน 86,904 บาท เหตุเกิดที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดง ตำบลป่าแดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับความเสียหายและบุคคลใดได้รับความเสียหายที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เป็นฟ้องที่บรรยายครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดเอกสาร ขึ้นใหม่โดยไม่ได้อยู่ในสำนวนคดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เอกสาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 อ้างถึงเป็นส่วนหนึ่งของรายงานสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยโจทก์ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานและอ้างส่งเป็นพยานหลักฐานตั้งแต่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานก่อนนำสืบพยานแล้ว จึงไม่ใช่การนำพยานหลักฐานที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกประการว่า มีเหตุลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นฎีกาเกี่ยวกับดุลพินิจในการกำหนดโทษจึงเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share