คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2300/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง กฎหมาย ใช้คำว่า “ต้องฟ้องภายในหนึ่งปี” เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้องหากไม่ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็หมดสิทธิฟ้องคือโจทก์ย่อมหมดสิทธิครอบครอง ที่พิพาทเมื่อหมดสิทธิครอบครองเสียแล้วอำนาจฟ้องเรียกคืนที่พิพาทก็ไม่มีฉะนั้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 1375 จึงเป็นระยะเวลาให้ สิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินมือเปล่าไม่ใช่เรื่องอายุความ เพราะอายุความนั้นเป็นเรื่องขณะฟ้องสิทธิเรียกร้องยังมีอยู่แต่ไม่ใช้สิทธินั้นบังคับเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงขาดอายุความห้ามมิให้ฟ้องร้อง เมื่อเป็น สิทธิฟ้องร้อง โจทก์จะมีสิทธิฟ้องหรือไม่ ย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นอ้างเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา142(5)จำเลยไม่จำต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่ 20 ไร่เศษ จำเลยที่ 1 ได้บุกรุกเข้ารบกวนการครอบครองโดยยกร่องปลูกอ้อยลงในที่ดินซึ่งโจทก์ได้ไถปรับไว้ก่อนแล้ว เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ ทำให้โจทก์เสียหายและการที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 นั้น ทำให้โจทก์เดือนร้อนขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองมิให้ขัดขวางการครอบครองที่ดินจำนวน 14 ไร่ของโจทก์อีกต่อไป

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยบุกรุกเข้ารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ที่ดินแปลงนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41/2521 (ที่ถูกเป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 41/2511) จำเลยที่ 1เข้าทำกินในที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองมิให้ขัดขวางการครอบครองที่ดินจำนวน 14 ไร่ของโจทก์อีกต่อไป

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าโจทก์นำสืบได้อย่างชัดแจ้งว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในระหว่างแจ้งความแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ห้ามทุกฝ่ายคือโจทก์จำเลยเข้าทำกินในที่ดินพิพาทจึงถือได้ว่าขณะโจทก์ จำเลยเป็นความกันในคดีอาญา ที่พิพาทอยู่ว่างเปล่าไม่มีฝ่ายใดครอบครองนั้น เห็นว่า คำสั่งห้ามของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวไม่มีกฎหมายรับรองให้ถือว่าที่พิพาทอยู่ว่างเปล่าดังโจทก์ฎีกา ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเข้าแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2519 โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน2522 โจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้ว เป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทอันเป็นที่ดินมือเปล่าเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่าในระหว่างที่โจทก์จำเลยเป็นความกันในคดีอาญานั้นจะเอามาเป็นระยะเวลาแห่งอายุความหาได้ไม่นั้น เห็นว่าการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง บัญญัติว่า “การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง” จะเห็นว่ากฎหมายใช้คำว่า “ต้องฟ้องภายในหนึ่งปี” เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง หากไม่ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็หมดสิทธิฟ้องคือ โจทก์หมดสิทธิครอบครองที่พิพาท เมื่อหมดสิทธิครอบครองเสียแล้ว อำนาจฟ้องเรียกคืนที่พิพาทก็ไม่มี ฉะนั้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 1375 จึงเป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินมือเปล่าไม่ใช่เรื่องอายุความดังโจทก์ฎีกา เพราะอายุความนั้นเป็นเรื่องขณะฟ้องสิทธิเรียกร้องยังมีอยู่แต่ไม่ใช้สิทธินั้น บังคับเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงขาดอายุความห้ามมิให้ฟ้องร้อง เมื่อการฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินมือเปล่าเป็นสิทธิฟ้องร้องดังวินิจฉัยแล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องหรือไม่ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นอ้างเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) จำเลยไม่จำต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ

พิพากษายืน

Share