คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นบริษัทรับประกันชีวิตแก่ประชาชนทั่วไปจึงมีผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเป็นจำนวนมาก เมื่อมีประชาชนผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอีกจำนวนมากที่ประสบกับเหตุลักษณะทำนองเดียวกับ พ. ทั้งจำเลยไม่ได้กำหนดเป็นระเบียบไว้ว่า อาการน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นโรคที่ต้องห้ามที่จำเลยจะไม่รับประกันภัย การที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นสมควรดำเนินคดีแทน พ. ผู้บริโภค จึงได้มอบหมายให้โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินคดีกับจำเลย จึงเป็นการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 39 ให้เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค และได้รับมอบหมายให้ดำเนินคดีแก่จำเลย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2532 จ่าสิบเอกปรีชา คำคงศักดิ์ ได้ทำสัญญาประกันชีวิตแบบตลอดชีพสะสมทรัพย์พิเศษไว้กับจำเลยมีกำหนดตลอดชีพของผู้ประกันภัย จำนวนเงินเอาประกันภัย 110,000 บาท และผลประโยชน์เพิ่มเติมอุบัติเหตุ (เอ.ไอ.) จำนวน 100,000 บาท อุบัติเหตุ (เอ.ดี.ดี.) จำนวน 100,000 บาท สัญญาเพิ่มเติมประกันภัยมีกำหนดระยะเวลา 15 ปี จำนวน 100,000บาท รวมเป็นเงิน 410,000 บาท หากผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายภายในกำหนดระยะเวลาประกันภัยและเกิดจากอุบัติเหตุ จำเลยจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่นางเพ็ญศรีใจบุญ ผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2533 จ่าสิบเอกปรีชาประสบอุบัติเหตุและถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2533 นางเพ็ญศรีได้ขอรับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าจ่าสิบเอกปรีชาได้ละเว้นหรือไม่เปิดเผยความจริงถึงข้อบกพร่องของสุขภาพ อันเป็นการละเมิดสิทธิของนางเพ็ญศรีผู้บริโภค จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 410,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26ตุลาคม 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 138,375 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 548,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 410,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางเพ็ญศรี ใจบุญ ผู้บริโภค

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 410,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นางเพ็ญศรี ใจบุญ ผู้รับประโยชน์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 138,375 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยมติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาลตามสำเนาคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเอกสารหมาย จ.1 และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้ว ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2532 จ่าสิบเอกปรีชา คำคงศักดิ์ ได้ทำสัญญาประกันชีวิตแบบตลอดชีพสะสมทรัพย์พิเศษไว้กับจำเลยจำนวนเงินเอาประกันภัย 110,000 บาทและผลประโยชน์เพิ่มเติมอุบัติเหตุ (เอ.ไอ.) จำนวน 100,000 บาท อุบัติเหตุ (เอ.ดี.ดี.) จำนวน 100,000 บาท สัญญาเพิ่มเติมประกันภัยมีกำหนดระยะเวลา 15 ปี จำนวน 100,000 บาท โดยระบุให้นางเพ็ญศรี ใจบุญ เป็นผู้รับประโยชน์ หากผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายโดยอุบัติเหตุผู้รับประโยชน์จะได้รับเงินจากจำเลยรวม 410,000 บาท ตามสำเนากรรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2533 จ่าสิบเอกปรีชาได้ประสบอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำและถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2533 ด้วยสาเหตุสมองได้รับความกระทบกระเทือน ตามสำเนารายงานการตรวจชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.8 นางเพ็ญศรีแจ้งให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว แต่จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 26 ตุลาคม 2533 ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าจากการตรวจสอบพบว่า ผู้เอาประกันภัยมีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพและได้รับการรักษาพยาบาลก่อนวันยื่นใบสมัครขอทำสัญญาประกันชีวิต โดยผู้เอาประกันภัยละเว้นหรือไม่เปิดเผยความจริงถึงความบกพร่องในสุขภาพดังกล่าวตามสำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณาค่าชดเชยมรณกรรมเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2534 นางเพ็ญศรีได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามบันทึกคำร้องเรียนเอกสารหมาย จ.10 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเลยเอาเปรียบผู้บริโภค จึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินคดีแก่จำเลยแทนนางเพ็ญศรี ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการ ตามสำเนารายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.16 ข้อ 4.3 และ จ.18 ข้อ 4.16คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เหตุที่จำเลยไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางเพ็ญศรี เนื่องจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันชีวิตโดยตรงว่าจ่าสิบเอกปรีชารู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับความบกพร่องของร่างกายและสุขภาพซึ่งอาจจะได้จูงใจจำเลยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญาหรือรู้อยู่แล้วแถลงข้อความอันเป็นเท็จทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ การที่จำเลยปฏิเสธไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นการปฏิเสธโดยมีเหตุผลและตามกฎหมายให้สิทธิจำเลยไว้เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเฉพาะกรณีของจ่าสิบเอกปรีชาผู้เอาประกันภัยรายนี้เท่านั้นซึ่งจำเลยมีสิทธิบอกล้างสัญญาได้ จึงมิใช่เป็นเรื่องการไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่เป็นธรรมซึ่งจะเป็นความเสียหายหรือกระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 10 บัญญัติว่า “คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้… (7) ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะกรรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา 39” และมาตรา 39 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคหรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ หรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาลและเมื่อคณะกรรมการได้แจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินคดีตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้” ปัญหาว่าการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางเพ็ญศรีผู้รับประโยชน์เป็นกรณีซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า การที่จำเลยปฏิเสธการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางเพ็ญศรีผู้ร้องโดยอ้างอาการอ่อนเพลียของผู้เอาประกันภัยซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าไม่ใช่โรคนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง และไม่ใช่แต่เพียงผู้ร้องรายเดียวที่ประสบกับเหตุลักษณะนี้ แต่คาดว่ายังมีประชาชนผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอีกจำนวนมากที่ประสบกับเหตุลักษณะทำนองเดียวกันนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของผู้บริโภคโดยส่วนรวมและเพื่อป้องปรามผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยทั้งหลายไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม การดำเนินคดีแทนผู้ร้องจึงเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมเห็นว่า จำเลยเป็นบริษัทรับประกันชีวิตแก่ประชาชนทั่วไปจึงมีผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเป็นจำนวนมากที่โจทก์นำสืบว่ายังมีประชาชนผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอีกจำนวนมากที่ประสบกับเหตุลักษณะทำนองเดียวกันนี้ ทั้งจำเลยก็นำสืบรับว่า จำเลยไม่ได้กำหนดเป็นระเบียบไว้ว่า อาการน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นโรคที่ต้องห้ามที่จำเลยจะไม่รับประกันภัย ที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นสมควรดำเนินคดีแทนนางเพ็ญศรีผู้บริโภค จึงได้มอบหมายให้โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินคดีกับจำเลยจึงเป็นการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share