คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยปฏิเสธการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ พ. ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตโดยอ้างอาการอ่อนเพลียของผู้เอาประกันภัย ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าไม่ใช่โรคนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมอบหมายให้โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินคดีแก่จำเลยเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ชอบด้วย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ป. มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงก่อนจะทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย การที่นาย ป. มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำนั้นทางแพทย์ถือว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไปที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ไม่ถือว่าเป็นโรค ฉะนั้น ที่ ป. ไม่เปิดเผยเรื่องนี้ให้จำเลยทราบในคำขอเอาประกันชีวิตจึงไม่อาจอนุมานเอาได้ว่า ถ้าได้เปิดเผยความจริงเช่นนั้น จะจูงใจให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา อันจะทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ป. กับจำเลยตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาได้ เมื่อ ป. ได้ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ พ. ผู้รับประโยชน์ตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิต ๕๔๘,๓๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๑๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางเพ็ญศรี ใจบุญ ผู้บริโภค
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์มิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้ทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคหรือฟ้องให้รับผิดตามสัญญาประกันชีวิต ทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจข้อหา จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม และจำเลยไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ ทั้งเคยรับการรักษาก่อนวันยื่นคำขอทำประกันชีวิตกับจำเลย ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ และจำเลยได้บอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้ว จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินตามสัญญา จำเลยไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๔๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๓ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นางเพ็ญศรี ใจบุญ ผู้รับประโยชน์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๑๓๘,๓๗๕ บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า “คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้… (๗) ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะกรรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา ๓๙” และมาตรา ๓๙ บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ หรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และเมื่อคณะกรรมการได้แจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินคดีตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้” ปัญหาว่าการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางเพ็ญศรีผู้รับประโยชน์ เป็นกรณีซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า การที่จำเลยปฏิเสธการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางเพ็ญศรีผู้ร้องโดยอ้างอาการอ่อนเพลียของผู้เอาประกันภัยซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าไม่ใช่โรคนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง และไม่ใช่แต่เพียงผู้ร้องรายเดียวที่ประสบกับเหตุลักษณะนี้ แต่คาดว่ายังมีประชาชนผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอีกจำนวนมากที่ประสบกับเหตุลักษณะทำนองเดียวกันนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของผู้บริโภคโดยส่วนรวมและเพื่อป้องปรามผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยทั้งหลายไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม การดำเนินคดีแทนผู้ร้องจึงเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม เห็นว่า จำเลยเป็นบริษัทรับประกันชีวิตแก่ประชาชนทั่วไปจึงมีผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเป็นจำนวนมาก ที่โจทก์นำสืบว่ายังมีประชาชนผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอีกจำนวนมากที่ประสบกับเหตุลักษณะทำนองเดียวกันนี้ ทั้งจำเลยก็นำสืบรับว่าจำเลยไม่ได้กำหนดเป็นระเบียบไว้ว่า อาการน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นโรคที่ต้องห้ามที่จำเลยจะไม่รับประกันภัย ฉะนั้น ที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นสมควรดำเนินคดีแทนนางเพ็ญศรีผู้บริโภค จึงได้มอบหมายให้โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินคดีกับจำเลยจึงเป็นการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในส่วนรวม ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยรับประกันชีวิตจ่าสิบเอกปรีชาหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนจ่าสิบเอกปรีชาจะทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย จ่าสิบเอกปรีชาได้เคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจังหวัดลพบุรีด้วยอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้และอาเจียน โดยอาการดังกล่าวเกิดจากน้ำตาลในเลือดต่ำ สาเหตุเกิดจากการอดอาหารหรือรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ส่วนสาเหตุจากการดื่มสุราตามที่จำเลยอ้างนั้น เห็นว่า หากดื่มสุราแต่ยังคงรับประทานอาหารตรงเวลาอาการน้ำตาลในเลือดต่ำคงไม่เกิดขึ้น และจำเลยก็ไม่ได้มีระเบียบกำหนดไว้ว่า กรณีผู้เอาประกันภัยมีน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นโรคที่ต้องห้ามมิให้ทำสัญญาประกันชีวิต ทั้งก่อนรับทำสัญญาประกันชีวิต จำเลยก็ได้จัดให้แพทย์ทำการตรวจสุขภาพของจ่าสิบเอกปรีชาก่อนแล้ว ปรากฏว่าจ่าสิบเอกปรีชามีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยว่าอาการน้ำตาลในเลือดต่ำของจ่าสิบเอกปรีชาเกิดจากการดื่มสุราจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จ่าสิบเอกปรีชาผู้ตายมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงก่อนจะทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย และที่จ่าสิบเอกปรีชามีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำก็มิใช่โรค ฉะนั้นที่จ่าสิบเอกปรีชาไม่เปิดเผยเรื่องนี้ให้จำเลยทราบในคำขอเอาประกันชีวิต จึงไม่อาจอนุมานเอาได้ว่า การไม่เปิดเผยข้อความจริงเช่นนั้นจะจูงใจให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา อันจะทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างจ่าสิบเอกปรีชากับจำเลยตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จ่าสิบเอกปรีชาผู้เอาประกันภัยได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำโดยผู้เอาประกันภัยไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยรับประกันชีวิตจ่าสิบเอกปรีชาและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางเพ็ญศรีผู้รับประโยชน์ตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share