คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า สำเนาให้จำเลยทั้งสองพร้อมอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองจะคัดค้านหรือไม่ และสั่งในอุทธรณ์ว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดรับอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนี้ แม้จะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนและหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้ และสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2536 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย คงมีแต่การหักทอนบัญชีคิด ดอกเบี้ยค้างชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกัน อีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันในวันที่ 31 กรกฎาคม 2536 หาได้สิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2539 อันเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,529,008.57 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 3,763,090.73 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 123580 ตำบลสามเสนนอก (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ ถ้าขาดจำนวนอยู่เท่าใดให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบจำนวน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,126,733.47 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก.
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า สำเนาให้จำเลยทั้งสองพร้อมอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองจะคัดค้านหรือไม่ และสั่งในอุทธรณ์ว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดรับอุทธรณ์ของโจทก์ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เฉพาะข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สัญญากู้เบิกเงิน เกินบัญชีที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อใด ในการวินิจฉัยปัญหา ข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536 ในวงเงิน 1,600,000 บาท โดยใช้บัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันและยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราใดที่โจทก์เห็นสมควรเปลี่ยนแปลง กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้กำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นเดือน แต่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำนอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 123580 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 มีข้อสัญญาว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 จนครบจำนวน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 นำเงินฝากเข้าบัญชีและถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันเรื่อยมาจนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2536 จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชี 500,000 บาท แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์อีกเลย คงมีแต่การหักทอนบัญชีคิดดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และให้จำนวนที่ 2 ไถ่ถอนจำนอง ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2539 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้นแล้วเพิกเฉยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้ และสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการ บอกเลิกสัญญาหรือการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชี 500,000 บาท เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2536 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์อีกเลย คงมีแต่การหักทอนบัญชีคิดดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 31 กรกฎาคม 2536 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งสูงกว่าวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีถึง 524,733.47 บาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป และตามสัญญากู้เบิกเงิน เกินบัญชีโจทก์และจำเลยที่ 1 กำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นสุดของเดือน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นอันเลิกกันในวันที่ 31 กรกฎาคม 2536 หาได้สิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2539 อันเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ไม่ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2536 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยทั้งสองต่อไป ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2536 หลังจากวันดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share