คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าที่พิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ ให้จำเลยทั้งสองสำนวนอาศัยปลูกบ้านบนที่ดินดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองอยู่ในที่พิพาทโดย ฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยทั้งสองก็ต้องออกไปจากที่พิพาทจะอ้างว่าโจทก์ให้เช่าช่วงที่พิพาทและไม่เคยบอกเลิก สัญญาเช่าช่วงโดยไม่ปรากฏว่ามีสัญญาเช่าช่วงต่อกันหาได้ไม่และไม่ว่าข้อเท็จจริงจะฟังว่าจำเลยทั้งสองอาศัยที่พิพาท จากโจทก์หรือเช่าช่วงจากโจทก์ก็ตาม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ขับไล่จำเลยทั้งสองได้
ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 (แก้ไขโดยฉบับที่ 6 พ.ศ. 2518) ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำต้องถือตาม ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม มาตรา 238 และมาตรา 247 เมื่อโจทก์จำเลยแถลงร่วมกัน ทำให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ส่วนพยานโจทก์ที่สืบมาแล้วนั้นโจทก์ไม่ติดใจซึ่งมี ผลเท่ากับว่าคู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจฟ้องของโจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยเท่านั้นการที่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากที่คู่ความ ท้ากันอันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมายศาลฎีกา จึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมานั้น ได้ตามมาตรา 243 (3) และมาตรา 247 ดังที่มาตรา 238 บัญญัติไว้
โจทก์จำเลยแถลงร่วมกันขอท้าให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นข้อ เดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ศาลชั้นต้นได้ จดรายงานกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการสืบพยานไว้ว่าส่วน พยานโจทก์ที่สืบมาแล้วนั้น โจทก์ไม่ติดใจเมื่อเป็นเช่นนี้ คดีเสร็จการพิจารณาข้อความดังกล่าวแสดงชัดอยู่ใน ตัวเองว่าการสืบพยานนั้นต่างฝ่ายต่างก็ไม่ประสงค์จะสืบพยาน แม้โจทก์จะได้สืบพยานไปแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจจำเลยทั้งสองมิได้แถลงขอสืบพยานหรือแถลงคัดค้านแต่ประการใด เช่นนี้จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิจะสืบพยานตามคำท้า

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมา โจทก์ฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และได้อนุญาตให้บิดาจำเลยสำนวนแรกและป้าของจำเลยสำนวนหลังปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินที่โจทก์เช่า เมื่อบิดาและป้าของจำเลยทั้งสองตาย โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองอาศัยต่อไปได้บอกกล่าวแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกจากบ้านดังกล่าว และให้จำเลยแต่ละคนใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๘๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนขนย้ายเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ได้ให้บิดาและป้าจำเลยทั้งสองเช่าที่ดินดังกล่าวปลูกบ้าน หลังจากบิดาและป้าจำเลยตาย โจทก์ให้จำเลยทั้งสองเช่าช่วงต่อมาและไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่าช่วง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
คู่ความแถลงท้ากันให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๘๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนขนย้ายเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้โจทก์จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๘ และมาตรา ๒๔๗ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำเลยเช่าช่วงที่ดินดังกล่าวปลูกบ้านเลขที่ ๑๗๑ และ ๑๗๓ จากโจทก์ และในระหว่างพิจารณาคดีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ผู้ให้เช่าได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์แล้ว ส่วนศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต่างกับศาลชั้นต้นโดยฟังว่า โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองอาศัยปลูกบ้านอยู่ โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอาศัยต่อไป ได้บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยเพิกเฉย และฟังข้อเท็จจริงต่อไปเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่า ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้บอกเลิกการเช่าแก่โจทก์แล้ว แต่คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์จำเลยแถลงร่วมกันท้าให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ส่วนพยานโจทก์ที่สืบมาแล้วนั้นโจทก์ไม่ติดใจ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ซึ่งมีผลเท่ากับว่าคู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจฟ้องของโจทก์ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยเท่านั้น ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากที่คู่ความท้ากัน เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๓) และมาตรา ๒๔๗ ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๘ บัญญัติไว้ โดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่จากคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยเป็นว่า โจทก์ซึ่งเช่าที่พิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ให้จำเลยทั้งสองอาศัยปลูกบ้านเลขที่ ๑๗๑ และ ๑๗๒ บนที่ดินดังกล่าว โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอาศัยได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไป จำเลยเพิกเฉย จำเลยอ้างว่า โจทก์ให้เช่าช่วงที่พิพาท แต่โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่า ช่วงเพียงแต่เคยขอเลิกสัญญาเช่าช่วง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองรวม ๒ ประการ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ว่าข้อเท็จจริงจะฟังว่าจำเลยทั้งสองอาศัยที่พิพาทจากโจทก์หรือเช่าช่วงจากโจทก์ก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองอยู่ในที่พิพาทโดยฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยทั้งสองก็ต้องออกไปจากที่พิพาท เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาเช่าช่วงต่อกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าที่พิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ตาม ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้บอกเลิกการเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้วหลังจากโจทก์ฟ้องคดีราว ๓ เดือน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองนั้นเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองฎีกาประการสุดท้ายว่า ที่โจทก์จำเลยแถลงร่วมกันข้อท้าให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นข้อเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อความที่ว่าพยานโจทก์ที่สืบมาแล้วโจทก์ไม่ติดใจสืบ ไม่มีข้อความผูกมัดจำเลยทั้งสองว่าไม่สืบพยานจำเลยทั้งสองจึงขอสงวนสิทธิที่จะสืบพยานหลักฐานต่อไป ศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นได้จดทะเบียนรายงานกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการสืบพยานไว้ว่า”ส่วนพยานโจทก์ที่สืบมาแล้วนั้น โจทก์ไม่ติดใจเมื่อเป็นเช่นนี้คดีเสร็จการพิจารณา”ข้อความจึงแสดงชัดอยู่ในตัวเองว่า การสืบพยานนั้นต่างฝ่ายต่างก็ไม่ประสงค์จะสืบพยาน แม้โจทก์จะได้สืบพยานไปแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจ จำเลยทั้งสองไม่มีจำเลยคนใดแถลงขอสืบพยาน ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงใช้คำว่าเมื่อเป็นเช่นนี้คดีเสร็จการพิจารณาและนัดฟังคำพิพากษาหลังจากนั้นอีก ๑ เดือน ในระหว่างนั้นจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้แถลงคัดค้านแต่ประการใด เป็นเช่นนี้จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิจะสืบพยานตามคำท้า
พิพากษายืน

Share