คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะถือว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาเป็น “พนักงาน” ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 หรือไม่ จะต้องได้ความว่า ทุนทั้งหมดหรือทุนเกินร้อยละห้าสิบขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นของรัฐ เมื่องานหรือทุนที่ดำเนินการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นของคุรุสภาซึ่งเป็นนิติบุคคล มิใช่เป็นของรัฐ จำเลยจึงไม่เป็น “พนักงาน” ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติที่กล่าวข้างต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภา ตำแหน่งประจำแผนก ทำหน้าที่เก็บเงิน สังกัดแผนกการเงิน ฝ่ายการบัญชีซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีทุนทั้งหมดเป็นของรัฐ จำเลยได้รับมอบใบเสร็จรับเงินขององค์การค้าของคุรุสภาให้ไปเก็บเงินรวม 5 ฉบับ แล้วจำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเงินที่เก็บมาได้ไว้บางส่วนเป็นจำนวนเงิน 32,814 บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และในการนี้ จำเลยได้ทำปลอมสำเนาใบรับเงินดังกล่าว อันเป็นเอกสารสิทธิว่าได้รับเงินน้อยกว่าจำนวนที่รับจริง แล้วจำเลยนำใบเสร็จรับเงินที่ทำปลอมไปใช้แสดงต่อหม่อมจารุวัลย์ สวัสดิวัฒน์ หัวหน้าแผนกการเงินขององค์การค้าของคุรุสภาว่าได้รับเงินตามจำนวนที่ทำปลอมนั้นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่องค์การค้าของคุรุสภา ฯลฯ หรือประชาชน อันเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 341พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 4 ริบของกลาง และให้จำเลยใช้เงินคืน 32,814 บาทแก่องค์การค้าของคุรุสภา

จำเลยให้การรับว่าได้กระทำการดังกล่าวในคำฟ้องจริง แต่มิได้มีเจตนายักยอก จำเลยไม่มีฐานะเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า องค์การค้าของคุรุสภาเป็นองค์การของรัฐจำเลยเป็นพนักงานขององค์การ จำเลยทำปลอมใบเสร็จรับเงินใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมและยักยอกเงินขององค์การค้าของคุรุสภาไป32,814 บาท พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 352 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 5 ปี ลดโทษให้ตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง จำเลยได้ใช้เงินคืนแล้ว จึงให้ยกคำขอข้อให้จำเลยคืนหรือใช้เงินคืน

จำเลยอุทธรณ์ว่า องค์การค้าของคุรุสภาไม่ใช่เป็นองค์การของรัฐจำเลยไม่ได้เป็นพนักงานขององค์การ ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐบาลไม่มีทุนในองค์การค้าของคุรุสภา จำเลยจึงไม่เป็นพนักงานตามความหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502และไม่สมควรรอการลงโทษ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 352 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดตามมาตรา 91 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกน้อยลงและรอการลงโทษ

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือใช้หนังสือปลอมและยักยอกดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหาที่ว่าจำเลยจะมีความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 หรือไม่ ตามคำวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “พนักงาน” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จะถือว่าจำเลยเป็นพนักงาน จะต้องได้ความว่า ทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นของรัฐทางพิจารณาได้ความว่า คุรุสภาตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 เป็นสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นนิติบุคคล อาจมีรายได้จากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน เงินค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดตั้งองค์การจัดหาผลประโยชน์ของคุรุสภา และทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ ซึ่งบุคคลอุทิศให้คุรุสภาและภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไข ข้อบังคับ หรือวัตถุประสงค์ซึ่งผู้อุทิศกำหนดไว้ ให้คุรุสภารักษาและจัดการตามที่เห็นสมควรแก่ประโยชน์แห่งคุรุสภา และได้ความจากคำเบิกความของนายกำธร สถิรกุลซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาพยานโจทก์ต่อไปว่ากรรมการอำนวยการของคุรุสภาได้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 ใช้ทุนของคุรุสภา เป็นหน่วยงานหน่วยหนึ่งของคุรุสภาเริ่มแรกใช้เงินซึ่งยืมมาจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ได้ใช้คืนหมดเมื่อ 10 ปีกว่ามาแล้ว ผลกำไรส่วนหนึ่งส่งให้แก่คุรุสภาอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ขยายงาน ก่อนตั้งองค์การค้าของคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการได้โอนงานโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชฯ สังกัดกรมอาชีวศึกษา กับร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ สังกัดกรมสามัญศึกษาให้คุรุสภาด้วย คุรุสภาจึงเอางานทั้งสองนี้มาร่วมกันตั้งเป็นองค์การค้าของคุรุสภาขึ้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อกระทรวงศึกษาธิการโอนงานโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชกับร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ให้แก่คุรุสภา ทรัพย์สินที่โอนมาก็ตกเป็นของคุรุสภา การที่คุรุสภาเอาเงิน 2 งานที่ได้รับโอนมาดำเนินการจัดตั้งเป็นองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นใหม่ งานหรือทุนที่ดำเนินการจึงเป็นของคุรุสภาซึ่งเป็นนิติบุคคล มิใช่เป็นของรัฐจำเลยจึงไม่เป็น “พนักงาน” ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การที่จำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินไปจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นพนักงานทุจริตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยน้อยลงและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกระทำผิดต่างกรรม ต่างวาระกันถึง 5 ครั้ง และการที่กระทำก็เป็นความผิดร้ายแรง ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมากระทงเดียวและลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง เป็นการปรานีแก่จำเลยมากแล้ว เห็นว่ายังไม่มีเหตุสมควรที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ตามฎีกาของจำเลยอีก

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์จำเลย

Share