คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2283/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญจาก ช.โดยสัญญามีข้อความว่า “ตามราคาเงินผู้ซื้อได้ตกลงชำระให้กับผู้ขาย 2,000 บาทถ้วน เหลือค้างอยู่ 6,000 บาท ผู้ซื้อยอมชำระให้กับผู้ขายเมื่อทำการโอนกันให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” และมีบันทึกในสัญญาว่า “วันที่ 29 ตุลาคม 2507 ให้ไว้อีก 1,500 บาท” ดังนี้สัญญาระหว่าง ช. กับโจทก์ เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาที่เหลือให้ ช. แม้โจทก์จะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานเพียงไรก็ยังไม่ได้สิทธิครอบครองเพราะการครอบครองของโจทก์เป็นการครอบครองแทน ช. โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ช. จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายชั้น เรืองประดิษฐ์ ได้ขายที่ดิน 1 แปลงให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้ครอบครองที่ดินแปลงนี้ตลอดมา เมื่อทางราชการออก น.ส. 3 ในชื่อของนายชั้นนายชั้นจึงได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ไว้ โจทก์ชำระราคาที่ดินให้นายชั้นครบถ้วนแล้ว โจทก์เร่งรัดให้นายชั้นไปจัดการใส่ชื่อโจทก์ใน น.ส. 3 แต่นายชั้นผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่ความตาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส. 3 เลขที่ 113ตำบลเขาใหญ่ (นายาง) อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายชั้นไปถอนชื่อนายชั้นออกจาก น.ส. 3 และจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินแปลง น.ส. 3 เลขที่ 251 จากนายชั้น ในราคา 8,100 บาท โจทก์ยังค้างชำระราคาอยู่อีก 4,600 บาท การซื้อขายไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและการซื้อขายดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย นายชั้นเพียงแต่มอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองแทนเท่านั้น โจทก์จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทดังปรากฏตามแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2507 นายชั้นเรื่องประดิษฐ์ ได้ทำสัญญาขายที่ดินหมายเลขที่ 113 ตำบลนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย จ.1 ในราคา 8,100 บาท โจทก์ได้ชำระราคาแก่นายชั้นเป็นงวด งวดแรกจำนวน 2,000 บาท งวดสองจำนวน1,500 บาท ปรากฏตามข้อตกลงข้อ 4 และบันทึกท้ายข้อ 5 ในเอกสารดังกล่าว และโจทก์ได้ครอบครองทำกินในที่ดินมาตลอด ประมาณ พ.ศ. 2516 นายชั้นถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุตรนายชั้นไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้คดีมีปัญหาว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้วหรือไม่ และจำเลยทั้งสองจะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่าโจทก์อ้างว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและชำระราคาให้นายชั้นผู้ขายครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า สัญญาระหว่างนายชั้นกับโจทก์เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ยังชำระราคาไม่หมด และโจทก์เพียงแต่ครอบครองที่ดินแทนนายชั้นเท่านั้น โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ตามข้ออ้างให้ศาลเพื่อได้ตามนั้น ได้ความจากโจทก์ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเงป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญจากนายชั้นโดยชำระราคาที่ดินในวันทำสัญญา 2,000 บาท อีก 5 – 6 เดือน ชำระอีก1,500 บาท ทำสัญญาแล้วประมาณ 5 ปีจึงชำระราคาที่ดินที่เหลืออีก 4,600 บาทให้นายชั้นที่บ้าน และเตือนให้นายชั้นโอนที่ดิน แต่นายชั้นไม่โอนให้ เห็นว่าสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 4 มีข้อความว่า “ตามราคาเงินผู้ซื้อได้ตกลงชำระให้กับผู้ขาย2,000 บาทถ้วน เหลือค้างอยู่อีก 6,000 บาท ผู้ซื้อยอมชำระให้กับผู้ขายเมื่อทำการโอนกันให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” และบันทึกท้ายข้อ 5 ว่า “วันที่ 29 ตุลาคม 2507 ให้ไว้อีก1,500 บาท” ตามข้อความในสัญญาและทางปฏิบัติของนายชั้นกับโจทก์ดังกล่าวเห็นว่าสัญญาระหว่างนายชั้นกับโจทก์เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยให้โจทก์ผ่อนชำระราคา เมื่อโจทก์ชำระราคาเสร็จสิ้น นายชั้นจึงจะโอนที่ดินให้ แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาที่ดินที่เหลือจำนวน 4,600 บาท ให้นายชั้น แม้โจทก์จะปลูกบ้านอยู่อาศัย ครอบครองทำประโยชน์และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทมานานเพียงไรก็ยังไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินนั้น เพราะการครอบครองของโจทก์เป็นการครอบครองแทนนายชั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทนายชั้นให้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share