คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2282/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความเป็นปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้องสมบูรณ์ของคำฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 158(5) และอายุความเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนี้ แม้จำเลยเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาศาลฎีกาก็เห็นสมควรรับวินิจฉัยให้ ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หาใช่เกิดในวันที่จำเลยเขียนเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ลงโทษจำคุก 4 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้องสมบูรณ์ของคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)และอายุความเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรรับวินิจฉัยให้
ปัญหาข้อแรก ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ พิเคราะห์คำบรรยายฟ้องโจทก์แล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2531 จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาเกาะสมุย ฉบับเลขที่ 178652 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2531 จำนวนเงิน 40,000 บาทให้แก่โจทก์ เพื่อเป็นการชำระหนี้ ก่อนถึงวันกำหนดจ่ายเงินจำเลยขอเลื่อนการนำเช็คไปขึ้นเงินอีก 1 เดือน วันที่ 3 พฤษภาคม 2531 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาเกาะสมุย ตำบลอ่างทองอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งว่า “บัญชีปิดแล้ว” ตามสำเนาภาพถ่ายเช็คและใบคืนเช็คท้ายฟ้องโจทก์จึงทราบว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และจำเลยออกเช็คนั้นในขณะที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันพึงใช้เงินได้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 3 อนุมาตรา (1) ถึง (5) ในแต่ละอนุมาตรามีองค์ประกอบความผิดอยู่ในตัวเอง ฟ้องโจทก์บรรยายครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 3(1) และ(2) แล้ว ทั้งบรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาสถานที่ที่จำเลยกระทำผิด อีกทั้งบุคคลผู้เกี่ยวข้องเพียงพอที่จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุว่าเหตุความผิดเกิดที่บ้านและหมู่บ้านเลขที่เท่าใด ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ปัญหาข้อสุดท้าย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หาใช่เกิดในวันที่จำเลยเขียนเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2531อันเป็นวันที่ความผิดเกิดขึ้นและโจทก์รู้ตัวผู้กระทำผิด โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 17 พฤษภาคม 2531 ยังไม่เกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96…”
พิพากษายืน.

Share