แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก
เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจรของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 209 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 210, 213, 309, 310, 337, 391, 83, 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 5, 6
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 210, 213, 310, 337, 391, 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 5, 6 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ประกอบด้วยมาตรา 213 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 213 มีกำหนด 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 213 มีกำหนดคนละ 4 ปี
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติว่า ระหว่างปี 2542 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จำนวนประมาณ 14 ถึง 20 คน เช่น นายรุ่งศักดิ์หรือปั้ง หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด จิตติชัยการโยธา นายลี้ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด สิทธิพรก่อสร้าง นางศิริหรือมุ้ย หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดเลาขวัญสามพี่น้อง นายสมชายหรือต้น หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรกาญจน์โยธา นายวิทยาหรือโดเรมอน หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด เวสเทอร์นแทรคเตอร์ นายพิพัฒน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดพิพัฒน์การโยธา นายชัยวัฒน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนวัฒน์สุวรรณ นางฉัตรพนิตหรือเตี้ย หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจสมชัย นายสุรชัย หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงปูนเขตรุ่งเรือง นายบุญยสิทธิ์หรือบุญชูหรืออ้วน หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด สินพัฒนกาญจน์ นายจรินทร์หรืออ้น หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์ธนพลก่อสร้าง นายอนุกูล หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด โชคไพศาลโยธา นายชูศักดิ์หรือเบี้ยว หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หมั่นตั้งธรรม และนายอดุลย์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทจรรโลง (1991) จำกัด ได้รวมตัวกันโดยตั้งชื่อกลุ่มว่า ยูโรกาญจน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 ที่หอประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หน่วยงานของทางราชการจัดให้มีการยื่นซองประกวดราคารับเหมาก่อสร้างหลายโครงการ ในวันดังกล่าวเวลา 9.30 นาฬิกา นายเดชา ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทวัสดุเซ็นเตอร์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 ไปยื่นซองเสนอราคาขายเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตต่อหน่วยงานของกรมชลประทาน แต่ถูกนายสมศักดิ์ และนายสมชาย กับพวกรวม 10 คน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2580/2546 ของศาลชั้นต้น ร่วมกันกีดกัน ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ข่มขืนใจและเสนอให้เงินตอบแทนเพื่อไม่ให้เข้าไปยื่นซองเสนอราคารวมทั้งขู่เข็ญให้เกิดความกลัวและร่วมกันทำร้ายร่างกายด้วย เจ้าพนักงานตำรวจที่แฝงตัวดูเหตุการณ์อยู่จึงแสดงตัวจับกุมนายสมศักดิ์ นายสมชายกับพวกดังกล่าวไปดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาลงโทษแล้ว ต่อมาถึงปี 2546 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขยายผลการกระทำความผิดของนายสมศักดิ์และนายสมชายกับพวกดังกล่าว แล้วต่อมาจึงกล่าวหาจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดกับกลุ่มของนายสมชายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 ด้วยหรือไม่ โจทก์นำสืบพยานโดยมีนางศิริกับพวกดังกล่าวแล้วมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเป็นทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุดังกล่าวกลุ่มยูโรกาญจน์ได้เข้าร่วมปฏิบัติการฮั้วการประมูลด้วย ดังที่เคยทำมาในการประกวดราคาครั้งก่อน ๆ และในครั้งนี้นายสมชายก็ได้เข้าปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มบุคคลที่เป็นทหารและถูกจับดำเนินคดี ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำสืบปฏิเสธ โดยยืนยันข้อเท็จจริงเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่รู้เห็นในการกระทำความผิดของนายสมชายและไม่ได้รู้เห็นกับการยื่นซองประกวดราคาของกลุ่มยูโรกาญจน์ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงที่อาจจะเป็นผลร้ายกับตนเอง ทั้งเบิกความสอดคล้องต้องกันไม่มีพิรุธ เชื่อว่าจะเบิกความไปตามที่รู้เห็นจริง ๆ ส่วนที่พยานโจทก์บางปาก เช่น นายลี้ นายรุ่งศักดิ์ นายจรินทร์ และนายอนุกูล เบิกความยืนยันว่านายสมชายไม่ได้ทำงานให้จำเลยที่ 1 แต่ทำงานเป็นเลขาให้นายเรวัต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี นั้น เห็นว่า เป็นการเบิกความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในเอกสารการแต่งตั้งการเป็นผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม ว่านายสมชายเป็นผู้ช่วยของจำเลยที่ 1 คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวนั้นจึงมีน้ำหนักรับฟังได้น้อย ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักรับฟังได้ตามที่พยานโจทก์ปากอื่น ๆ ที่เบิกความยืนยันว่านายสมชายเป็นเลขาของจำเลยที่ 1 และทำงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำสืบปฏิเสธแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดของนายสมชายกับพวก ดังนี้เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้มั่นคงปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับนายสมชายกับพวกดังกล่าวด้วย แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายเดชา ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคายืนยันว่าไม่ได้ยอมตามที่ถูกนายสมชายกับพวกกระทำการดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันเกิดเหตุดังกล่าวถูกยกเลิก เช่นนี้จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ยังไม่บรรลุผลคงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดดังกล่าวเท่านั้น
ข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อไปมีตามที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคสอง, 210 วรรคแรก, 213, 310 วรรคแรก, 391 กับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 5, 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 นั้น เป็นความผิดต่างกรรมกัน จึงต้องเรียงกระทงลงโทษหรือไม่ เห็นว่า เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคสอง, 210 วรรคแรก, 213, 310 วรรคแรก, 391 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 5, 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรกประกอบมาตรา 80, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์