แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของโจทก์ โดยหาผู้เช่าซื้อมาทำสัญญากับโจทก์โดยตรงและรับรถยนต์ไป ในการนี้จำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 1,000 บาท ต่อรถ 1 คัน และจำเลยหาผู้ใดมาเช่าซื้อ จำเลยต้องทำสัญญาค้ำประกันชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในเมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญาทุกกรณี ส่วนการเก็บเงินค่าเช่าซื้อตามงวด จำเลยเป็นผู้เก็บส่งโจทก์ หากผู้เช่าซื้อผิดสัญญา จำเลยก็ยึดรถที่เช่าซื้อนั้นคืนโจทก์หรือใช้ราคาให้ตามสัญญา ในการนี้โจทก์คิดค่าตอบแทนให้จำเลย 7 เปอร์เซ็นต์ของราคารถ ต่อมาผู้เช่าซื้อรถยนต์บางรายชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ครบ โจทก์ทวงถามอยู่เสมอ จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยติดค้างโจทก์ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นสัญญาชดใช้ค่าสินค้าที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์ค้างชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์รวมเป็นเงิน 210,500 บาท ฉบับที่ 2 เป็นสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการที่จำเลยไปยึดรถยนต์คืนจากผู้เช่าซื้อที่ผิดสัญญาเช่าซื้อมาแล้วปล่อยให้รถตากแดดตากฝนจนได้รับความเสียหายเป็นเงิน 28,500 บาทกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยยอมรับผิดชำระค่าเช่าซื้อแทนผู้เช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่รวมทั้งยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ในฐานะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์การฟ้องจำเลยตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นการฟ้องตัวแทนให้รับผิดตามสัญญาตัวแทน หาใช่เป็นเรื่องที่พ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของซึ่งมีอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนเป็นบริษัทตามกฎหมายเมื่อเดือนเมษายน 2505 จำเลยได้มาติดต่อทำการค้ากับโจทก์ โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้ติดต่อกับลูกค้าจำหน่ายรถยนต์บรรทุกจูปิเตอร์ พร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์และเครื่องอะไหล่ในจังหวัดอุบลราชธานีแทนโจทก์ ในการนี้ จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในเงินค่าเช่าซื้อที่ผู้ซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์จะต้องชำระให้โจทก์เป็นรายเดือน โดยจำเลยได้ค่านายหน้าและเป็นผู้ค้ำประกันรับผิดชอบในจำนวนเงินดังกล่าวนี้ต่อโจทก์ด้วย ต่อมาต้นปี 2507 จำเลยไม่นำเงินค่าซื้อสินค้าที่จำเลยซื้อไปมาชำระให้โจทก์ นอกจากนี้เงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยเก็บมาจากผู้เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์แล้ว จำเลยก็ไม่นำส่งโจทก์อ้างว่าฐานะของจำเลยฝืดเคือง ขอผัดผ่อนชำระหนี้ไปก่อน จึงได้คิดบัญชีหนี้สินกับจำเลย และในวันที่ 11 เมษายน 2507 จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยติดค้างโจทก์รวมสองฉบับ ฉบับแรกเป็นเงิน 210,500 บาท อีกฉบับหนึ่งเป็นเงิน 28,500 บาท ปรากฏตามสำเนาเอกสารหมาย 2,3 ท้ายฟ้อง โดยจำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีจนกว่าจะชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์เสร็จ ต่อมาวันที่ 16 เมษายน ถึง 11 พฤศจิกายน ในปี 2507 จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับแรกเป็นเงิน 54,000 บาท เหลือค้างชำระอีก 185,000 บาท ในวันที่26 กรกฎาคม 2508 จำเลยมีหนังสือมาขอให้โจทก์ลดจำนวนหนี้ลงอีก โดยอ้างว่าการค้าฝืดเคืองมาก และจำเลยได้แสดงรายการว่าจำเลยยังคงติดค้างหนี้สินโจทก์เพิ่มอีกบางรายการ และหนี้ที่โจทก์ควรจะหักกลบลบหนี้ให้จำเลยอีกบางรายการ เพื่อขอให้โจทก์พิจารณาลดหนี้ลง โจทก์ได้พิจารณาผ่อนผันและลดหนี้ให้จำเลยอีกจนเหลือเพียง 81,685.58 บาท ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2508 จำเลยได้รับหนังสือแล้วได้มาติดต่อกับโจทก์เพื่อขอลดหนี้ลงอีกหลายครั้ง แต่โจทก์ไม่สามารถยินยอมได้ จำเลยจึงไม่มาติดต่อและไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ให้ทนายมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยรับหนังสือแล้วก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงิน 81,685.58 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่ค้างชำระหนี้จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 28,419.80 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในเงินต้น 81,685.58 บาท นับแต่วันฟ้องต่อไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ และตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ในฐานะพ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของ มิได้ฟ้องภายใน 2 ปี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 81,685.58 บาทให้โจทก์ โดยให้คิดหักส่วนได้ของจำเลยที่มีสิทธิได้รับเงินจากโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 54,875.29 บาทออกก่อนคงให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียง 26,810.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องอะไหล่รถยนต์ยี่ห้อจูปิเตอร์ของโจทก์ ในการนี้ จำเลยมีสิทธิได้รับเงินจำนวนสิบเปอร์เซนต์ของราคาที่ขายได้ และจำเลยยังเป็นตัวแทนของโจทก์ในการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อจูปิเตอร์ให้แก่ผู้เช่าซื้อ โดยพาผู้เช่าซื้อมาทำสัญญากับโจทก์โดยตรง และรับรถยนต์ไป ในการนี้จำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 1,000 บาท ต่อรถหนึ่งคัน และจำเลยหาผู้ใดมาเช่าซื้อจำเลยต้องทำสัญญาค้ำประกันชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในเมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญาทุกกรณี ส่วนการเก็บเงินค่าเช่าซื้อตามงวด จำเลยเป็นผู้เก็บส่งมายังโจทก์ หากผู้เช่าซื้อผิดสัญญา จำเลยก็ยึดรถที่เช่าซื้อนั้นส่งคืนโจทก์หรือใช้ราคาให้ตามสัญญาเช่าซื้อ ในการนี้ โจทก์คิดค่าตอบแทนให้จำเลยเจ็ดเปอร์เซ็นต์ของราคารถ ต่อมาผู้เช่าซื้อรถยนต์บางรายชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ครบ โจทก์ได้ทวงถามอยู่เสมอ ครั้นวันที่ 11 เมษายน 2507 จำเลยมาที่บริษัทโจทก์ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยติดค้างโจทก์รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นสัญญาชดใช้ค่าสินค้าที่นายเชียงฮุย สิบโทจันทรา นายทองใบ นายเฮือง และนายบุญเลี้ยงผู้เช่าซื้อรถยนต์ค้างชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์รวมเป็นเงิน 210,500 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 ฉบับที่สองเป็นสัญญารับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ในการที่จำเลยไปยึดรถยนต์คืนจากนายเริงชัย และนายสมานผู้เช่าซื้อที่ผิดสัญญาเช่าซื้อมา แล้วปล่อยให้รถตากแดดตากฝน จนได้รับความเสียหายเป็นเงิน 28,500 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาชดใช้ค่าสินค้าตามเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์แล้วบางส่วนเป็นเงิน 54,000 บาท คงค้างชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้สองฉบับดังกล่าวเป็นเงินรวม 185,000 บาท ต่อมาจำเลยติดต่อขอหักกลบลบหนี้บางรายการตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.3 ลงอีกจนเหลือหนี้ค้างชำระทั้งสิ้นรวมเป็นเงิน 81,685.58 บาท ดังที่โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระตามเอกสารหมาย ล.2 แต่จำเลยมิได้นำเงินมาชำระให้โจทก์อีก โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2510
ในปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่จำเลยเข้าทำสัญญาใช้หนี้ให้โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยยอมรับผิดชำระค่าเช่าซื้อแทนบรรดาผู้เช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่ รวมทั้งยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องตัวแทนให้รับผิดตามสัญญาตัวแทนนั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องที่พ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของซึ่งมีอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) ไม่ คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้ออื่น และเห็นว่าฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน