แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะโจทก์ที่ 3 ยื่นฟ้องคดีสำนวนหลังปรากฏว่าผู้จัดการมรดกตายไปแล้ว 2 คน คงเหลือผู้จัดการมรดก 3 คน คือจำเลยที่ 1 ก.และ ส.สำหรับก.และส. มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามและไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่จัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามคงมีจำเลยที่ 1 ที่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ทั้งสามชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวได้ อายุความตามมาตรา 1754 นั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบจะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1755 โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ท. จำเลยที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ท. เป็นแต่เพียงผู้จัดการมรดกซึ่งมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ทั้งยังต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวแทน การที่จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท. ลงในสารบัญจดทะเบียนที่ดินทรัพย์มรดกก็เพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทนั่นเอง จึงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของ ท. แทนทายาทด้วยกันทุกคน จำเลยที่ 1หามีสิทธิยกอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ท. ไม่ แม้จะถือว่าสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ท. มีหลักฐานเป็นหนังสือและมีลายมือชื่อทายาทบางคน ก็คงมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับได้เฉพาะคู่สัญญาที่ลงชื่อไว้ โจทก์ทั้งสามมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าว จึงไม่ต้องถูกผูกพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1750 วรรคสอง ท.กับช. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ขณะสมรสกัน ช. มีสินเดิมอยู่ด้วย ซ. จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรส 1 ใน 3 ส่วนตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ขณะ ท.ได้จำเลยที่2เป็นภริยาคนที่2ท.มีซ. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกันหลายคนแล้ว ทั้งขณะนั้นท.มีฐานะร่ำรวยมากขึ้นเมื่อจำเลยที่2เป็นภริยาท.ก็ช่วยเหลือทำงานในฐานะแม่บ้าน ไม่ใช่ผู้อยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนร่วมในการประกอบการค้ากับ ท. ประกอบกับเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทรัพย์พิพาททั้งหมดมิได้เกิดจากการที่จำเลยที่ 2 ทำมาหาได้ร่วมกับท. จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงมิได้ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้ จึงต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2จึงไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์พิพาท ท. โอนที่ดินแปลงพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีหนี้ต่อกันเมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ท.กับซ.อันถือได้ว่าเป็นสินบริคณห์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ. 2477 มาตรา 1462 แม้ตามปกติสามีจะมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้ก็ตาม แต่หากเป็นการให้โดยเสน่หาก็ต้องได้รับความยินยอมจากภริยาก่อน เว้นแต่เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม ตามมาตรา 1473(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ. 2477 โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นการให้สินบริคณห์ที่เป็นที่ดินมีโฉนดซึ่งตามกฎหมายให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก ซ. ภริยาด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 1476 การที่ท. โอนที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมทั้งที่ดินแปลงพิพาทมีราคาสูงอันเกินกว่าจะให้ในทางสมาคม ท.จึงไม่มีอำนาจโอนที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และสิทธิของ ซ.ในการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวเป็นสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน มิใช่การเฉพาะตัว โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ซ. มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวทั้งหมดได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า นายทรง อำนวยพลและนางซิวโป๊ แซ่ตั้งหรืออำนวยพล เป็นสามีภริยากันตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2471 และมีบุตรด้วยกัน 8 คน โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรในจำนวนดังกล่าวด้วย นอกจากนี้นายทรงยังมีบุตรกับนางมณี อำนวยพลจำเลยที่ 2 อีก 12 คน และมีบุตรกับนางสมใจ แก้วกระจ่าง อีก4 คน นางซิวโป๊และนายทรงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2513และ 18 มกราคม 2514 ตามลำดับ โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายกาญจนะ เฮงสุวนิชพันเอก(พิเศษ)เฉลิม เจริญพานิช นายเกษม ทวีสุข นายสุธี สุลัญชุปกรและจำเลยที่ 1 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายทรง ต่อมานายกาญจนะและพันเอก(พิเศษ) เฉลิม ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมได้ถึงแก่ความตาย นางซิวโป๊และนายทรงมีสินสมรสด้วยกันเป็นจำนวนมากอันเป็นสินสมรสต้องแบ่งกันระหว่างนางซิวโป๊กับนายทรงตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย โดยนางซิวโป๊จะได้ส่วนแบ่งหนึ่งในสามส่วนนายทรงได้ส่วนแบ่งสองในสามส่วน เฉพาะส่วนของนางซิวโป๊ตกแก่ทายาท 9 คน คือนายทรงและบุตรที่เกิดแต่นางซิวโป๊ 8 คนซึ่งมีโจทก์ทั้งสามรวมอยู่ด้วยโดยแต่ละคนได้ส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กัน สำหรับทรัพย์มรดกส่วนที่เป็นของนายทรงได้แก่สินสมรสสองในสามส่วนดังกล่าวและส่วนแบ่งจากทรัพย์มรดกของนางซิวโป๊อีกหนึ่งในเก้าส่วนของทรัพย์มรดกของนางซิวโป๊ดังกล่าว ทรัพย์มรดกส่วนของนายทรงทั้งหมดจะตกได้แก่ทายาทรวม 24 คน คือ บุตรของนายทรงที่เกิดกับนางซิวโป๊ 8 คน ที่เกิดกับนางมณีจำเลยที่ 2จำนวน 12 คน และที่เกิดกับนางสมใจ 4 คน บุตรของนายทรงแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกของนายทรงคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กันเมื่อคิดคำนวณเป็นร้อยละของทรัพย์มรดกที่เป็นสินสมรสทั้งหมดดังกล่าวแล้วจะเป็นทรัพย์มรดกของนางซิวโป๊ร้อยละ 29.63 และตกทอดแก่นายทรงและบุตรของนางซิวโป๊จำนวน 8 คน ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามรวมอยู่ด้วยเป็นทรัพย์มรดกของนายทรงร้อยละ 70.36 และตกทอดแก่บุตรของนายทรง 24 คน ซึ่งก็มีโจทก์ทั้งสามรวมอยู่ด้วยเช่นกันจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกทั้งหมดของนายทรงและนางซิวโป๊ซึ่งเป็นสินสมรสดังกล่าวไว้แทนทายาททุกคนแต่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกเหล่านี้ให้แก่ทายาทรวมทั้งโจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 29446 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 2 ที่ 3กับพวก ได้ร่วมกันนำเอาโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 โดยนายทรงมิได้รู้เห็นยินยอมและจำเลยที่ 2รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยมิได้เสียค่าตอบแทนไม่ได้ซื้อขายกันจริง ๆ และโดยไม่สุจริตโดยมิได้รับความยินยอมของนางซิวโป๊ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทรง นิติกรรมการโอนดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่กองมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทต่อไป สำหรับทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 13716นั้นก็เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองเช่นกัน เพียงแต่นายทรงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในโฉนดที่ดินเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 3 จึงต้องโอนที่ดินแปลงนี้คืนให้แก่กองมรดกเช่นกันเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทต่อไป ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29446 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตำบลวังทองหลางอำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 13716ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ มาเป็นชื่อของนายทรงหรือผู้จัดการมรดกของนายทรง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของนายทรงและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสามตามอัตราส่วนดังกล่าวข้างต้น
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1แต่ผู้เดียวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทรงไม่ได้เพราะมีผู้จัดการมรดก 5 คน และได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว 2 คน คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะผู้จัดการมรดกได้โอนใส่ชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดกแทนนายทรงเจ้ามรดกมานานประมาณ 3-4 ปี แล้วโดยทายาทไม่ได้เรียกร้องทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดก ทรัพย์มรดกรายนี้ได้มีการตกลงประนีประนอมแบ่งกันเรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนางซิวโป๊สมรสกับนายทรงโดยไม่มีสินเดิมจึงไม่มีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสหนึ่งในสามส่วน ทรัพย์มรดกรายนี้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหาได้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายทรง จึงต้องแบ่งให้จำเลยที่ 2 ครึ่งหนึ่ง สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 29446 เป็นของจำเลยที่ 2 โดยนายทรงโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2รับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และได้ครอบครองมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายทรง ไม่ใช่สินสมรสระหว่างนายทรงกับนางซิวโป๊ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 13716พร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายทรง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แบ่งโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 29446 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้นางซิวโป๊ แซ่ตั้งหนึ่งในสามส่วน และให้ส่วนแบ่งของนางซิวโป๊เป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของนางซิวโป๊ ส่วนที่เหลือจากการแบ่งให้นางซิวโป๊แล้วให้แบ่งออกเป็น 24 ส่วน และให้โจทก์ทั้งสามได้รับคนละ 1 ส่วนตามส่วนที่พึงได้รับ หากจำเลยที่ 2 ไม่จัดการโอนก็ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และให้แบ่งทรัพย์ดังต่อไปนี้คือที่ดินโฉนดเลขที่ 11538, 11540, 11541 และ 10264 ตำบลสามเสนในอำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 12ถึง 24 ตำบลจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวม 13 แปลงที่ดินโฉนดเลขที่ 5113 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการหุ้นในบริษัทอำนวยกิจ จำกัด รวม 41,000 หุ้น หุ้นในบริษัทอำนวยพล จำกัด รวม 243 หุ้น ให้แก่นางซิวโป๊อันเป็นมรดกตกแก่ทายาทของนางซิวโป๊ร้อยละ 29.63 และของนายทรงอันเป็นมรดกตกแก่ทายาทของนายทรงร้อยละ 70.36 ให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 24 ส่วน ให้แบ่งเงินฝากในธนาคารรวม 4 แห่งตามบัญชีทรัพย์หมาย ล.9 รวมทั้งสิ้น 493,468.33 บาท ตกเป็นทรัพย์มรดกของนายทรงร้อยละ 70.36 และให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 24 ส่วนของส่วนที่ตกเป็นมรดกของนายทรง คำขออื่นของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 29446 ระหว่างนายทรงกับจำเลยที่ 2นำเข้ากองมรดก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาประการแรกว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวโดยไม่ฟ้องผู้จัดการมรดกอีก 4 คนด้วยไม่ได้นั้น เห็นว่า ขณะโจทก์ที่ 3 ยื่นฟ้องสำนวนคดีหลังปรากฏว่าผู้จัดการมรดกได้ตายไปแล้ว 2 คน คงเหลือผู้จัดการมรดก 3 คนคือจำเลยที่ 1 นายเกษมและนายสุธี สำหรับนายเกษมและนายสุธีผู้จัดการมรดกสองคนนี้มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม และไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ยอมจัดการแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสามโจทก์ที่ 1 เบิกความว่าได้ติดต่อสอบถามจำเลยที่ 1 เรื่องแบ่งทรัพย์มรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ให้ไปสอบถามจำเลยที่ 2 เมื่อพยานไปถามจำเลยที่ 2 ก็บอกว่าให้ไปถามจำเลยที่ 1 และโจทก์เคยให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ตามเอกสารหมาย จ.53 แล้วจำเลยที่ 1 ก็เพิกเฉย จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมคนหนึ่งในจำนวน 5 คนไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ให้โจทก์ทั้งสาม ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวเป็นคดีนี้ได้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังนายทรงถึงแก่ความตายเกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั้น เห็นว่า อายุความตามมาตรา 1754นั้นจะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1755 ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายทรง จำเลยที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายทรงเป็นแต่เพียงผู้จัดการมรดกซึ่งมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ทั้งยังต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวแทน การที่จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทรงลงในสารบัญจดทะเบียนที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทนั่นเอง จึงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของนายทรงแทนทายาทด้วยกันทุกคน ดังนั้น ตัวแทนของทายาทคือจำเลยที่ 1 หามีสิทธิยกอายุความ1 ปี ตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายทรงไม่
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามและทายาทคนอื่น ๆ ของนายทรงได้ตกลงประนีประนอมแบ่งทรัพย์มรดกกันเรียบร้อยแล้วปรากฏตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.19 จ.20 และจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในสัญญาเอกสารหมาย ล.9 แล้วนั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.19เป็นเพียงรายงานการประชุมการจัดการแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้โดยที่ประชุมตกลงกันเรื่องการตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งกับการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกเท่านั้น ส่วนเอกสารหมาย จ.20 ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวประชุมกันเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์มรดกว่าจะแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทซึ่งเป็นบุตรของภริยานายทรงแต่ละคนอย่างไรบ้าง โจทก์ทั้งสามมิได้เป็นกรรมการแต่คงลงชื่อในรายงานการประชุมดังกล่าวในฐานะผู้เข้าประชุมเท่านั้น ทั้งปรากฏว่าทายาทคนอื่น ๆ ซึ่งเกิดแต่จำเลยที่ 2 และนางสมใจก็มิได้เข้าประชุมร่วมตกลงด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่าหลังจากการประชุมดังกล่าวแล้วยังมีการประชุมต่อมาอีกหลายครั้งตามเอกสารหมาย จ.22ถึง จ.36 จนกระทั่งมีการยกร่างสัญญาแบ่งมรดกเพื่อให้ทายาทลงชื่อรายงานการประชุมตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 จึงเป็นเพียงขั้นตอนในการจัดเตรียมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต้องให้ทายาททุกคนลงชื่อให้ความเห็นชอบในโอกาสต่อไปเท่านั้น สำหรับเอกสารหมาย ล.9 นั้นแม้จะมีข้อความระบุว่า “สัญญาแบ่งมรดก” ก็คงมีเพียงนายเพียย้งแซ่เอ็ง บุตรนายทรงซึ่งเกิดกับนางซิวโป๊เพียงคนเดียวที่ลงชื่อทายาทสายจำเลยที่ 2 และนางสมใจก็ยังลงชื่อไม่ครบทุกคน แม้จะถือว่าสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายทรงมีหลักฐานเป็นหนังสือ และมีลายมือชื่อทายาทบางคนก็คงมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับได้เฉพาะคู่สัญญาที่ลงชื่อไว้เท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามมิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาแบ่งมรดกตามเอกสารหมาย ล.9 จึงไม่ต้องถูกผูกพันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง จำเลยที่ 1ไม่อาจอ้างข้อตกลงดังกล่าวมาบังคับให้โจทก์ทั้งสามต้องถือปฏิบัติตาม
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นางซิวโป๊ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทรงไม่มีสินเดิมมาก่อนจึงไม่มีสิทธิขอแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งเป็นสินสมรส 1 ใน 3 ส่วนนั้น โจทก์นำสืบว่า ขณะอยู่ที่ประเทศจีนครอบครัวของนางซิวโป๊มีฐานะดีกว่านายทรง และโจทก์มีนายฮั่งตี่ แซ่ตั้ง น้องชายนางซิวโป๊ซึ่งเกิดที่ประเทศจีนเช่นกันเบิกความสนับสนุนว่า ก่อนแต่งงานกันนางซิวโป๊มีอาชีพเย็บปักถักร้อย และมีเงินได้จากบิดามารดาที่ให้ในวันตรุษจีนตอนแต่งงานกับนายทรงนางซิวโป๊ก็ได้เอาเงินที่สะสมไว้ติดตัวไปด้วยและตอนที่เดินทางมาอยู่ประเทศไทยก็ได้เอาทรัพย์สินส่วนตัวมาด้วยได้แก่ ตุ้มหู สร้อยคอ และกำไลมือ ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ขณะนางซิวโป๊สมรสกับนายทรง นางซิวโป๊มีสินเดิมอยู่ด้วย นางซิวโป๊จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรส 1 ใน 3 ส่วน ทั้งนี้ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ทรัพย์พิพาททั้งหมดเป็นทรัพย์ที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างนายทรงกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะนายทรงได้จำเลยที่ 2 เป็นภริยาคนที่สองนั้น นายทรงมีนางซิวโป๊เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกันหลายคนแล้ว ทั้งขณะนั้นนายทรงก็มีฐานะร่ำรวยมากขึ้น จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อเป็นภริยานายทรงก็ช่วยเหลือทำงานโดยเฉพาะงานครัวและรับใช้ทั่วไปนายทรงได้ให้เงินค่าใช้จ่ายแก่พยานเป็นประจำทุกเดือน ตอนที่นายทรงก่อสร้างโรงแรมแคปปิตอล จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ช่วยรับแขกและเตรียมอาหารสำหรับให้คนงาน พยานมีหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารการกินและเบิกความรับว่านางซิวโป๊ เคยว่าพยานเป็นเพียงขี้ข้าด้วย เห็นว่า หน้าที่ดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการทำงานในฐานะแม่บ้านเท่านั้น ไม่ใช่ผู้อยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนร่วมในการประกอบกิจการค้ากับนายทรงประกอบกับเมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าทรัพย์พิพาททั้งหมดมิได้เกิดจากการที่จำเลยที่ 2 ทำมาหาได้ร่วมกับนายทรง จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงก็มิได้ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้จึงต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีฟังไม่ได้ว่าทรัพย์พิพาททั้งหมดเกิดจากการทำมาหาได้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายทรงจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สินพิพาทคดีนี้
สำหรับปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ว่า โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายทรงและนางซิวโป๊จะขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29446 ตามเอกสารหมาย จ.59 ระหว่างนายทรงกับจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายทรงกับนางซิวโป๊ ซึ่งถือว่าเป็นสินบริคณห์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462ตามพฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบมาประกอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ว่า นายทรงโอนที่ดินแปลงพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีหนี้ต่อกันแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายทรงกับนางซิวโป๊ อันถือได้ว่าเป็นสินบริคณห์ แม้ตามปกติสามีจะมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้ก็ตาม แต่หากเป็นการให้โดยเสน่หาก็ต้องได้รับความยินยอมของภริยาก่อน เว้นแต่เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคมตามมาตรา 1473(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 บรรพ 5 โดยเฉพาะในกรณีนี้เป็นการให้สินบริคณห์ที่เป็นที่ดินมีโฉนดซึ่งตามกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากนางซิวโป๊ภริยาด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 1476 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายทรงโอนที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรม ทั้งที่ดินแปลงพิพาทมีราคาสูงอันเกินกว่าจะให้ในทางสมาคมโดยนางซิวโป๊ภริยามิได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือเช่นนี้นายทรงจึงไม่มีอำนาจโอนที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2สิทธิของนางซิวโป๊ในการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวเป็นสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน มิใช่การเฉพาะตัวโจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางซิวโป๊ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวทั้งหมดได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามจะขอเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงพิพาทไม่ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงต้องเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29446 ให้กลับมาเป็นสินสมรสระหว่างนายทรงกับนางซิวโป๊ โดยเป็นของนางซิวโป๊ 1 ใน 3 ส่วนเป็นของนายทรง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนของนางซิวโป๊เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และนายทรงคนละ 1 ใน 9 ส่วน กับส่วนแบ่งจากสินสมรส2 ใน 3 ส่วน ให้เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์คนละ 1 ใน 24 ส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29446 แล้วให้จำเลยที่ 2 แก้สารบัญจดทะเบียนในโฉนดดังกล่าวมาเป็นชื่อของนางซิวโป๊ 1 ใน 3 ส่วน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ส่วนของนางซิวโป๊เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และนายทรงคนละ 1 ใน 9 ส่วน ให้ส่วนของนายทรงจำนวน1 ใน 9 ส่วนดังกล่าว กับอีก 2 ใน 3 ส่วนที่แบ่งกับนางซิวโป๊แล้วเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์อีกคนละ 1 ใน 24 ส่วนด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์