คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก เพียงแต่บรรยายถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันจำเป็นและสมควรจะต้องมีผู้จัดการมรดกเท่านั้น ส่วนการที่ศาลจะตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกนั้นแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก และภายใต้บังคับบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1718 ฉะนั้น แม้คำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องของผู้ร้องคัดค้านที่ 2 จะมิได้บรรยายว่าผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้ ก็เป็นคำร้องขอที่ชอบ เพราะคำร้องขอเช่นว่านี้ไม่จำต้องบรรยายบทบังคับให้ศาลต้องปฏิบัติไว้ด้วย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรคนโตของนางลั้ง แซ่โค้วมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531นางลั้ง แซ่โค้ว ถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจวาย ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 4739 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อจังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 2 งาน 1 ตารางวา พร้อมตึกแถว2 ชั้น 2 คูหา ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ดังกล่าวให้บุคคลใดมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของนางลั้ง แซ่โค้ว ทรัพย์มรดกของนางลั้งยังมีบ้านเลขที่ 57หมู่ที่ 3 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการสร้อยคอทองคำหนัก 10 บาท เข็มขัดนากหนัก 15 บาท แหวนทองคำหนัก 1 บาท ตุ้มหูทองคำหนัก 2 สลึง พวงกุญแจนากหนัก 2 บาทและเงินสดอีก 1,000 บาท ซึ่งผู้ร้องทราบดีแต่ปกปิดไว้ เพราะต้องการจะเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2ที่ 3 เป็นบุตรของนางลั้ง แซ่โค้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3ไม่ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 มีอายุและคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายชวลิต รัตนวิเศษกิจหรือแซ่โค้วผู้ร้อง นางณัฐปรางค์ สนามทอง ผู้คัดค้านที่ 1นางสาวบุญมี แซ่โค้ว ผู้คัดค้านที่ 2 และนางบุปผา สวัสดีผู้คัดค้านที่ 3 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางลั้ง แซ่โค้วผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนายชวลิต รัตนวิเศษกิจหรือแซ่โค้ว ผู้ร้อง นางณัฐปรางค์ สนามทองผู้คัดค้านที่ 1 และนางสาวบุญมี แซ่โค้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางลั้ง แซ่โค้ว ผู้ตายให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 3
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่าผู้ร้องสมควรเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดก คือบ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และสร้อยคอทองคำเข็มขัดนาก แหวนทองคำ ตุ้มหูทองคำ พวงกุญแจนาก และเงินสด1,000 บาท ของผู้ตายข้อนี้ได้ความจากผู้ร้องว่า บ้านดังกล่าวนั้นบิดายกให้ผู้ร้องตั้งแต่บิดาผู้ร้องยังมีชีวิตอยู่ผู้ร้องจึงไม่ถือว่าเป็นทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งแก่ทายาทนอกจากนั้นผู้ร้องยังมีนายฉลวย สนธิสาคร และผู้คัดค้านที่ 3เบิกความสนับสนุนอีกว่า บิดายกบ้านให้ผู้ร้องเพราะตามธรรมเนียมประเพณีจีนจะยกทรัพย์ให้แก่บุตรชายคนโต หลังจากนั้นผู้ร้องได้อยู่อาศัยและซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีตลอดมา คนทั่วไปก็ทราบว่าบ้านเป็นของผู้ร้อง เห็นว่าพยานผู้ร้องเบิกความมีเหตุผลน่าเชื่อ หลังจากมารดาตายผู้ร้องได้จดทะเบียนโอนบ้านเป็นของตนจึงเป็นการทำไปโดยสุจริตที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าผู้ร้องมีเจตนาทุจริตและได้ฟ้องคดีอาญาผู้ร้องก็ยังฟังเป็นยุติไม่ได้ว่า ผู้ร้องได้กระทำผิดตามฟ้องและยังได้ความต่อมาอีกว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง สำหรับเรื่องสร้อยคอทองคำเข็มขัดนาก แหวนทองคำ ตุ้มหูทองคำและพวงกุญแจนากนั้นผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความเพียงปากเดียวว่า ผู้ตายมีอยู่ขณะตายแล้วหายไป ไม่มีพยานอื่นเบิกความสนับสนุนว่าเป็นความจริงตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวอ้างหรือไม่ จึงไม่มีน้ำหนักฝ่ายผู้ร้องมีผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 เบิกความยืนยันสอดคล้องกันว่า ผู้ตายไม่มีทรัพย์ดังกล่าวขณะตายและเงินมรดกประมาณ 1,000 บาทนั้น ก็ได้ความว่าผู้ร้องได้ใช้จ่ายไปในการจัดการศพของผู้ตายแล้ว มีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าผู้คัดค้านที่ 1
สำหรับปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่าผู้คัดค้านที่ 2 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ตามคำคัดค้านไม่ได้บรรยายว่าไม่ได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก เพียงแต่บรรยายถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันจำเป็นและสมควรจะต้องมีผู้จัดการมรดกเท่านั้นส่วนการที่ศาลจะตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกนั้น แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก และภายใต้บังคับบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ฉะนั้นจึงไม่จำต้องบรรยายบทบังคับให้ศาลจำต้องปฏิบัติไว้ในคำร้องด้วย เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกันฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share