คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2263/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาที่จำเลยค้างชำระ มูลหนี้ที่ฟ้องในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นมูลหนี้ต่างรายกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อน ฟ้องซ้อนเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกดคีแรงงานวินิจฉัยว่า “ได้ความว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขดำที่ 4612/2529 หมายเลขแดงที่ 5512/2529 จำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย มีคำขอให้จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีเมื่อวันที่7 พฤศจิกายน 2529 โดยพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามฟ้อง และยกฟ้องแย้งซึ่งจำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยเสียด้วยจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2530 ขอให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาที่ค้างชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2529 ศาลแรงงานกลางได้ทำการพิจารณาเสร็จสำนวนแล้วและยังอยู่ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษา จึงปรากฏตามคำแถลงการณ์ปิดคดีของโจทก์ว่าคดีก่อนนั้นศาลได้พิพากษาแล้ว และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 ตามคำพิพากษาฎีกาที่613/2530
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ตามสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ โจทก์ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาที่จำเลยค้างชำระซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ที่บัญญัติว่า “ค่าล่วงเวลา” หมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ” และตามข้อ 11 บัญญัติว่า “ในกรณีที่งานมีลักษณะต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินโดยจะหยุดเสียมิได้ นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามข้อ3(1) และ (4) หรือในวันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้ ฯลฯ” ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาจากจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ ในเมื่อโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างได้ทำงานนอกเวลาปกติแล้ว แต่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้หรือจ่ายให้ไม่ครบถ้วน แม้จำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า อันเป็นผลจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องในมูลหนี้ต่างรายกับมูลหนี้ในคดีก่อน อีกทั้งการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่ศาลฎีกายังมิได้พิพากษาคดีก่อน คดีก่อนจึงยังไม่ถึงที่สุด จึงหาใช่เป็นฟ้องซ้ำดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่เพราะกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
เนื่องจากศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อนหรือไม่ ซึ่งปัญหาข้อนี้แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นนี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวเพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาอันจะเป็นปัญหาวินิจฉัยต่อไป พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในเบื้องต้นแล้วว่าการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกับคดีก่อน หาได้มีมูลมาจากการเลิกจ้างในคดีก่อนด้วยไม่ แต่เป็นมูลหนี้ที่แยกออกได้เป็นคนละส่วนต่างหากจากกัน ถึงแม้โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาก็ตาม กรณีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดิมจึงมิใช่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ โดยยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดไว้แล้วว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาตามฟ้องหรือไม่และคดีขาดอายุความหรือไม่นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาและเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี”.

Share