แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีเดิมศาลได้วินิจฉัยถึงที่สุดแล้วว่า รูปแผนที่แบ่งแยกตามที่ช่างแผนที่สำนักงานที่ดินทำมาถูกต้องตรงตามข้อตกลงของโจทก์จำเลยในชั้นบังคับคดีแล้ว ให้จำเลยจัดการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 1488ให้แก่โจทก์ไปตามรูปแผนที่นั้น ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินก็ได้จัดการแบ่งแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 17364 ให้แก่โจทก์ไปแล้ว คดีนี้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความเดียวกับคดีก่อนได้ยกข้อต่อสู้และฟ้องแย้งว่ารูปแผนที่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17364 ไม่ถูกต้องขึ้นมาอีกเป็นเรื่องจำเลยรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์ที่ 1 และที่ 4 ร้องขอแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 17364เพื่อขายให้แก่ บ.กับพวก จำเลยทราบแล้วยังไปคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดดังกล่าวออกมาโดยชอบเป็นการจงใจกระทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ที่ 1 และที่ 4 เสียหายแก่สิทธิที่จะขายที่ดินและได้รับเงินจาก บ.กับพวกผู้ซื้อ จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 4 เมื่อการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ที่ 1และที่ 4 ไม่ได้รับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจาก บ.กับพวก ซึ่งถ้าโจทก์ที่ 1 และที่ 4 นำไปฝากธนาคารจะได้ดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีจำเลยจึงต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่17364 ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการเนื้อที่ 50 ไร่ 25 ตารางวา มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 1488 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2523 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17364 ออกเป็นเฉพาะส่วนของโจทก์แต่ละคน โจทก์ที่ 1 และที่ 4 ได้แบ่งแยกเพื่อขายด้วยโดยจะขายที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 10 ไร่ ให้แก่นายบรรจงและนายวีระ ประดิษฐ์ผลพานิช เป็นเงิน 1,200,000 บาท เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2523 โจทก์ได้นำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินจำเลยคัดค้านแนวเขตโดยอ้างว่า โจทก์นำชี้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของจำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง โดยความจริงจำเลยชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์กว้างประมาณ 2 วา ยาวตลอดแนวเขตติดต่อประมาณ 180 วา คิดเป็นเนื้อที่ 3 งาน 63 ตารางวา เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์เพราะจำเลยรู้ดีว่าโจทก์แบ่งแยกเพื่อขายแก่บุคคลภายนอกและเจ้าพนักงานที่ดินได้สั่งระงับเรื่องไว้ ถ้าโจทก์ทำการแบ่งแยกเสร็จก็จะโอนให้แก่นายบรรจง นายวีระ ประดิษฐ์ผลพานิชและรับเงินส่วนที่เหลือ 600,000 บาท ฝากธนาคารจะได้ดอกเบี้ยประจำในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2523คิดถึงวันฟ้องจะได้ดอกเบี้ยเป็นเงิน 60,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าการนำชี้รังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 17364 ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 1สิงหาคม 2523 เป็นการถูกต้องให้จำเลยยื่นคำขอถอนคำคัดค้านแนวเขตที่ดินลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2523 หากจำเลยไม่ถอนคำคัดค้านก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 เป็นเงิน 60,000 บาท และค่าเสียหายร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะถอนคำคัดค้านและชำระหนี้เสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 17364 โจทก์และเจ้าพนักงานที่ดินสมคบกันทำการรังวัดโดยถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194-1195/2504และที่ 183-184/2510 ออกโฉนดจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1488 ของจำเลยโดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย จึงคลาดเคลื่อนไปจากแผนที่พิพาทในคดีดังกล่าวโดยโจทก์ทำบันทึกมอบที่ดินด้านทิศตะวันออกส่วนที่หักเป็นถนนเข้าไว้ในโฉนดที่ดินของจำเลย แผนที่โฉนดเลขที่ 17364 ของโจทก์จึงไม่ตรงกับแผนที่พิพาทเดิม จำเลยได้ฟ้องให้เพิกถอนโฉนดเลขที่17364 ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 872/2525 ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะโจทก์ออกโฉนดที่ดินฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่า แผนที่หลังโฉนดเลขที่17364 ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางพลี เป็นโมฆะ ให้ทำการรังวัดใหม่ให้ตรงตามแผนที่พิพาท ในสำนวนของศาลฎีกาที่ 1194-1195/2504 และที่ 183-184/2510 (คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120-121/2501ของศาลชั้นต้น)ให้ด้านทิศตะวันออกยาวสุดเขตโฉนดโดยไม่หักถนนสาธารณะเข้าไปอยู่ในโฉนดเลขที่ 1488 ของจำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนโจทก์
โจทก์ทั้งห้าให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เดิมโจทก์ นางพุดบางเทศธรรม และจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกันตามโฉนดเลขที่1488 ต่อมาโจทก์และนางพุดได้ขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวจำเลยไม่ยอม โจทก์และนางพุดจึงฟ้องจำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่120-121/2501 ของศาลชั้นต้น โจทก์และนางพุดชนะคดี จึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว จำเลยคัดค้าน จึงเกิดกรณีพิพาทกันในชั้นบังคับคดีอีก ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์และนางพุดชนะตามคำพิพากษาฎีกาที่ 183-184/2510 โจทก์และนางพุดขอให้เจ้าพนักงานที่ดินแบ่งแยกเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดแบ่งแยก จำเลยได้ยื่นฟ้องกรมที่ดินโจทก์กับพวกเป็นจำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่239/2512 ของศาลชั้นต้น กรมที่ดิน โจทก์กับพวกชนะคดี โจทก์และนางพุดจึงได้ยื่นคำขอทำการรังวัดจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดเลขที่1488 ออกเป็นส่วนของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 17364 และเป็นของนางพุดตามโฉนดเลขที่ 17363 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ในครั้งนี้โจทก์นำชี้ตรงตามรูปแผนที่ที่แบ่งแยกซึ่งตรงกับแผนที่ที่ศาลฎีกาพิพากษาและให้หักส่วนถนนเข้ามากินที่ดินโจทก์และนางพุดประมาณ3-4 ไร่ ซึ่งจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและจำเลยทราบเรื่องทางสาธารณประโยชน์รายนี้มาประมาณ 30 ปีแล้ว ทั้งโจทก์ครอบครองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 17364 มาด้วยความสงบและโดยเปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา 40-50 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความ ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1488 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยกลับมาฟ้องอีกว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดเลขที่ 17364 ไม่ถูกต้องจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120-121/2501 และที่ 239/2512 ของศาลชั้นต้นขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 17364ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไม่ถูกต้องให้ทำการรังวัดรูปแผนที่หลังโฉนดใหม่ โดยให้จำนวนเนื้อที่ที่ถูกหักเป็นถนนรวมอยู่ในที่ดินเป็นจำนวน 40 ไร่ ที่โจทก์ได้มาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194-1195/2504 ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยได้มรณะ นางฟัก ฮวบแซ่มภริยาของผู้มรณะร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17364 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการหากจำเลยไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินร้อยละ 12 ต่อปีในต้นเงิน600,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2524 ไปจนกว่าจำเลยจะถอนคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันและตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงว่าเดิมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1488 อยู่ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 123 ไร่เศษ มีชื่อนายแช่ม นางพ่วงถือกรรมสิทธิ์ แต่นางพุดและนางบางได้ครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าว 12 ไร่ 3 งาน และประมาณ 40 ไร่ ตามลำดับ ต่อมานายแช่มนางพ่วงตาย เพื่อสะดวกในการรับมรดกได้ตกลงให้นายฉาย ฮวบแช่มมีชื่อเป็นเจ้าของในโฉนดที่ดินแต่ผู้เดียวครั้นนางบางตายนางพุด บางเทศธรรม และนางสวิง ชูฬา กับพวกซึ่งเป็นทายาทของนางบางได้เรียกร้องให้นายฉายแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวตามที่ครอบครองให้นางพุดนางสวิงกับพวก นายฉายไม่ยอมแบ่ง นางพุดนางสวิงกับพวกได้ฟ้องนายฉายในที่สุดคดีนั้นศาลฎีกาพิพากษาให้ที่พิพาทที่นางพุดโจทก์ครอบครองตกเป็นของนางพุด ให้ที่พิพาทที่นางสวิงกับพวกโจทก์ครอบครองตกเป็นของนางสวิงกับพวกให้จำเลย (นายฉาย)จัดการแบ่งแยกโฉนดสำหรับที่พิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน หากจำเลยไม่จัดการแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่1194-1195/2504) ชั้นบังคับคดีปรากฏว่าคดีเดิมมิได้มีการทำแผนที่พิพาทไว้ โจทก์จึงได้นำช่างแผนที่ไปรังวัดเพื่อแบ่งแยกโดยถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยเพราะจำเลยไม่ไปและจำเลยได้ยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์นำรังวัดไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่รังวัดแบ่งแยกให้ ต่อมาศาลชั้นต้นได้สอบถามคู่ความและบันทึกข้อตกลงของคู่ความไว้แล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำแผนที่ตามข้อตกลงของคู่ความฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม2505 แล้วให้จำเลยจัดการแบ่งแยกโฉนดเลขที่ 1488 ให้โจทก์ทั้งสองตามรูปแผนที่แบ่งแยกฉบับนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดแบ่งแยกใหม่เสร็จแล้ว ได้ส่งรูปแผนที่ที่แบ่งแยกแล้วต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ จำเลยคัดค้านว่า โจทก์นำรังวัดเข้าไปในสวนของจำเลย จึงไม่รับรอง ผลที่สุดโจทก์จำเลยขอให้ศาลไปตรวจดูที่พิพาทว่ารังวัดถูกต้องหรือไม่ ศาลชั้นต้นไปตรวจดูแล้วมีคำสั่งว่ารูปแผนที่แบ่งแยกที่ทำมานั้นถูกต้องตรงกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2505 แล้วให้จำเลยจัดการแบ่งแยกโฉนดเลขที่ 1488 ให้โจทก์ตามรูปแผนที่แบ่งแยกนั้น และคดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 183-184/2510 ต่อมานายฉาย ฮวบแช่ม ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ 1 นายตระกูลมาลีกรัย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 2นายพุด บางเทศธรรม ที่ 3 นางสวิง ชูฬา ที่ 4 นายไสว สถาพรที่ 5 นายแสวง สถาพร ที่ 6 และจ่าโทสวง สถาพร ที่ 7 เป็นจำเลยอ้างว่า จำเลยทั้งเจ็ดได้ร่วมกันทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1488 ไม่ตรงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1194-1195/2504 จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมแบ่งแยกที่ดิน และให้ทำการแบ่งแยกใหม่ให้ถูกต้องตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว (ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 239/2512ของศาลชั้นต้น) คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่า เรื่องการรังวัดแบ่งที่พิพาทระหว่างโจทก์จำเลยนี้ ได้เคยเป็นความกันจนถึงศาลฎีกาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 183-184/2510 ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่ารูปแผนที่แบ่งแยกที่ช่างแผนที่สำนักงานที่ดินทำมานั้นถูกต้องตรงกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยแล้ว จึงให้โจทก์จัดการแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ไปตามรูปแผนที่แบ่งแยกดังกล่าว หากโจทก์ไม่จัดการแบ่งแยกก็ให้มีหนังสือแจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการจัดการแบ่งแยกให้ต่อไป ดังนี้ เห็นว่า ข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลฎีกาซึ่งได้เคยวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์จะฎีกาคัดค้านเช่นนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1544/2517) และได้มีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1488 ตามรูปแผนที่แบ่งแยกดังกล่าวออกเป็นโฉนดเลขที่ 17364 เนื้อที่ 41 ไร่ 25 ตารางวา ลงชื่อนางสวิง ชูฬา นายไสว สถาพร นายแสวง สถาพร และจ่าเอกสวง สถาพร เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์2519 ส่วนปัญหาที่โต้เถียงกันโจทก์นำสืบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2521 โจทก์ที่ 1 และที่ 4 ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 17364ตำบลคลองราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการให้แก่นายบรรจง ประดิษฐ์ผลพานิช และนายวีระ ประดิษฐ์ผลพานิชจำนวน 10 ไร่ ราคา 1,200,000 บาท ได้รับเงินมัดจำแล้วจำนวน 600,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือจะชำระเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 วันที่ 11 เมษายน2523 โจทก์ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17364 ออกเป็น11 แปลง แปลงด้านทิศเหนือเนื้อที่ 10 ไร่ที่ระบายสีแดงไว้ในเอกสารหมาย จ.4 แบ่งแยกเพื่อขายให้แก่นายบรรจงกับพวกวันที่ 17 มิถุนายน 2523 นายวินัย ใจมั่น ช่างรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการไปทำการรังวัดแบ่งแยก จำเลยคัดค้านแนวเขต โจทก์ขอให้งดการรังวัดไว้ตามเอกสารหมาย จ.7, จ.8วันที่ 1 กรกฎาคม 2523 โจทก์ไปยื่นคำขอรังวัดตามที่โจทก์นำชี้และดูแผนที่โฉนดเลขที่ 17364 เอกสารหมาย จ.11 ประกอบ จำเลยและเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่คัดค้าน นายวินัยได้ขึ้นรูปแผนที่ใหม่ตามเอกสารหมาย จ.11 เพื่อออกโฉนด ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยมอบอำนาจให้นางฟักภริยาไปคัดค้านการรังวัดตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่อาจแบ่งแยกโฉนดให้โจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไปถอนคำคัดค้าน จำเลยไม่ถอนการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ไม่ได้รับเงินจากการขายที่ดินอีก 600,000 บาท และยังขาดดอกเบี้ยจากเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ12 ต่อปี
จำเลยนำสืบว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1488 ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์กับพวกได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินประมาณ 52 ไร่ จำเลยนำโฉนดเลขที่ 1488 ไปจำนองนางสอาด ดวงพัศตรา และได้รับคืนมาก่อนคดีนี้ประมาณ 1 ปี จำเลยเห็นแผนที่ของโฉนดผิดไปจากเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 เนื่องจากโจทก์ไม่รังวัดไปสุดเขตทางทิศตะวันออก ทำให้เนื้อที่ในถนนอยู่ในโฉนดของจำเลยประมาณ 7-8 ไร่โจทก์นำช่างรังวัดไปทำการรังวัดแนวเขตไม่ถูกต้อง จำเลยจึงให้ภริยาไปคัดค้าน โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาพิจารณาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120-121/2501และที่ 239/2512 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120-121/2501 และที่ 239/2512 ของศาลชั้นต้นคดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 182-184/2510 และที่ 1544/2517ตามลำดับโดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกันว่า รูปแผนที่แบ่งแยกตามที่ช่างแผนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการทำมานั้นถูกต้องตรงตามข้อตกลงของโจทก์จำเลยแล้วให้โจทก์จัดการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 ไปตามรูปแผนที่แบ่งแยกดังกล่าว หากจำเลยไม่จัดการแบ่งแยกก็ให้มีหนังสือแจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการจัดการแบ่งแยกให้ต่อไป ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้จัดการแบ่งแยกออกโฉนดเลขที่ 17364 ให้แก่นางสวิงกับพวกไปแล้วคดีนี้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันในคดีก่อนได้ยกข้อต่อสู้และฟ้องแย้งว่า รูปแผนที่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17364 ไม่ถูกต้องขึ้นมาอีก ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเรื่องจำเลยรื้อฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิที่จะคัดค้านแนวเขตที่ดินของโจทก์ได้การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าในการรังวัดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1488 เพื่อแบ่งแยกให้นางสวิง ชูฬาโจทก์ที่ 1 กับพวกในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่1194-1195/2504 จำเลยคัดค้านว่าเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินไม่ตรงตามคำพิพากษาดังกล่าว ขอให้ทำการรังวัดใหม่จนศาลฎีกาพิพากษาว่า เจ้าหน้าที่รังวัดเพื่อแบ่งแยกโฉนดตรงตามข้อตกลงของคู่ความและถูกต้องแล้ว ทั้งจำเลยยังได้ฟ้องกรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการเป็นจำเลยร่วมกับโจทก์ในคดีนี้อ้างว่ารังวัดไม่ชอบขอให้รังวัดใหม่ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่า แผนที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกถูกต้องแล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1544/2517ต่อมาได้มีการออกโฉนดเลขที่ 17364 ตามแผนที่แบ่งแยกดังกล่าวแล้วแต่เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ร้องขอแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดเลขที่17364 เพื่อขายให้แก่นายบรรจงกับพวก โดยได้มอบที่ดินให้นายบรรจงกับพวกครอบครองสร้างโรงงานขึ้นในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ตกลงจะซื้อขายและโจทก์ก็ทราบแล้ว แต่โจทก์ยังไปคัดค้านการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17364 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดดังกล่าวออกโดยชอบ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์ที่ 1 ที่ 4 โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ที่ 1ที่ 4 เสียหายแก่สิทธิที่จะขายที่ดินดังกล่าวและได้รับเงินจากนายบรรจงกับพวกผู้ซื้อ จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 4ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีก
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่จำเลยคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายบรรจงและนายวีระผู้จะซื้อไม่ได้ โจทก์ที่ 1 และที่ 4จึงยังไม่ได้รับเงินส่วนที่เหลืออีก 600,000 บาท โจทก์ที่ 1เบิกความว่า หากจำเลยไม่คัดค้านการแบ่งแยกโฉนด โจทก์ที่ 1 ที่ 4 จะได้รับเงินค่าที่ดินที่เหลืออีก 600,000 บาท จากนายบรรจงกับพวกผู้ซื้อ ถ้าโจทก์ที่ 1 ที่ 4 นำไปฝากประจำธนาคารจะได้ดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี มีนายสมศักดิ์ เกษเสถียร พยานโจทก์ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาลาดกระบังเบิกความสนับสนุนว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ธนาคารคิดดอกเบี้ยเงินฝากประจำให้ร้อยละ 12 ต่อปี ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12ต่อปีเหมาะสมแล้วไม่ควรแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นดุจกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร้อยละ12 ต่อปี ในต้นเงิน 600,000 บาท นั้นยังไม่ชัดแจ้ง เพราะฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 เท่านั้น สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 ร้อยละ 12 ต่อปีในต้นเงิน 600,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์