คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็นผู้หญิงต่ำ ๆ ต่อหน้าผู้อื่นซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไปเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1ซึ่งหน้า หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารถปรับทุกข์ไม่ ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ในการปราบปรามสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดทางอาญา หาได้เกี่ยวกับกรณีที่มีบุคคลพิพาทกันในทางแพ่งไม่ แม้คู่กรณีนำเรื่องทางแพ่งไปแจ้งให้จัดการไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบและผู้เสียหายที่ 2 ทำการไกล่เกลี่ยให้ และจัดการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก็หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่คงเป็นแต่เพียงอัชฌาสัยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้น การกระทำของผู้เสียหายที่ 2จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แม้จำเลยได้พูดถ้อยคำว่า “มันก็เข้าข้างกัน” ก็ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393,136, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393, 136 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ปรับ1,000 บาท ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ปรับ2,000 บาท รวมปรับ 3,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยพูดว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้หญิงต่ำ ๆ ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 กับมีผู้อื่นอยู่ด้วยในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าหญิงทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้าแล้ว หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ดังที่จำเลยฎีกาไม่
ส่วนการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองเกี่ยวกับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 นั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 2 ไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมข้อพิพาทในทางแพ่งระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 นั้นจำเลยได้กล่าวคำว่า “มันก็เข้าข้างกัน” เห็นว่าผู้เสียหายที่ 2เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ในการปราบปรามสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดทางอาญา หาได้เกี่ยวกับกรณีที่มีบุคคลพิพาทกันในทางแพ่งไม่ แม้คู่กรณีจะนำเรื่องทางแพ่งไปแจ้งให้จัดการไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบ และเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการไกล่เกลี่ยให้และจัดการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก็หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่ คงเป็นแต่เพียงอัชฌาสัยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้นดังนั้น การกระทำของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานแม้จำเลยได้พูดถ้อยคำดังกล่าวก็ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share