คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์นำเช็คไปเบิกเงิน ธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 แต่ปรากฏว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจะจ่ายตามเช็คนั้น จึงให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่าย ถือได้ว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น แม้จะเป็นการปฏิเสธด้วยวาจา เพราะตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดวันจากการใช้เช็คก็ดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช็คก็ดีไม่ได้บัญญัติไว้ว่าการปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คต้องทำเป็นหนังสือ ความผิดของจำเลยจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้น เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์และนำคดีมาฟ้องภายหลังรู้เรื่องความผิด และรู้ว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นเวลา 8 เดือนเศษคดีโจทก์ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาถนนมิตรภาพจังหวัดนครราชสีมา ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๑ จำนวนเงิน ๑๔,๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๑ โจทก์ไปเรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ทั้งนี้จำเลยออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฯลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง แล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า การนับอายุความเริ่มนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษร คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๑ โจทก์นำเช็คไปเบิกเงินในวันนั้น ธนาคารแจ้งว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่ายให้ติดต่อผู้สั่งจ่ายโดยพนักงานธนาคารแจ้งด้วยวาจา ครั้นวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๑ โจทก์นำเช็คไปเบิกเงินอีก ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๑ เมื่อโจทก์นำเช็คไปเบิกเงินปรากฏว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย จึงให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่าย ถือได้ว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น แม้จะเป็นการปฏิเสธด้วยวาจา เพราะตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คก็ดี ประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยเช็คก็ดี ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าการปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คต้องทำเป็นหนังสือ ความผิดของจำเลยจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้น เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์ และนำคดีมาฟ้องภายหลังรู้เรื่องความผิด และรู้ว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นเวลา ๘ เดือนเศษ คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖
พิพากษายืน.

Share