คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2249/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 อันเป็น กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำ ความผิด ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตาม กฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฯลฯ” เมื่อจำเลย ออกเช็คชำระหนี้กู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปโดยมิได้มี หลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ จึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถ บังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์จำหน่ายคดีเพราะจำเลย นำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง ทำให้หนี้ที่ ผู้กระทำผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้ สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมัคร พรหมยารัตน์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ลงโทษจำคุก 6 เดือน คำให้การจำเลยชั้นพิจารณาของศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยขอชำระหนี้ให้โจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมไม่ยอมรับชำระหนี้ จำเลยจึงได้นำเงิน431,300 บาท ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง เมื่อวันที่28 กุมภาพันธ์ 2535 เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ร่วม
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยได้นำเงินตามเช็คไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลางแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ได้บัญญัติว่า หนี้ที่ผู้กระทำผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นความผูกพันไปก่อนศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำหน่ายคดี
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมส่วนที่ว่าการนำเงินไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลางไม่ทำให้คดีอาญาระงับไป และหนี้กู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่จะบังคับจำเลย การนำเงินไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลางจึงกระทำไม่ได้ หนี้ไม่สิ้นผลผูกพัน คดีอาญาไม่ระงับไปนั้น เห็นว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ใช้บังคับให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497ซึ่งในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ”เมื่อจำเลยออกเช็คชำระหนี้กู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป โดยที่มิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ จึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอีกต่อไปแม้จำเลยจะนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์กลางโดยประสงค์ให้หนี้สินผลผูกพัน ซึ่งมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 บัญญัติให้คดีเลิกกันเมื่อหนี้ที่ผู้กระทำผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด การจะเลิกกันต้องเป็นกรณีที่หนี้ออกเช็คเพื่อใช้เงินคือหนี้กู้ยืมเงินสิ้นผลผูกพันแต่คดีนี้หนี้กู้ยืมเงินไม่สามารถจะบังคับเรื่องกู้ยืมได้ตามกฎหมาย อันไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เมื่อวินิจฉัยปัญหาเช่นนี้แล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายคดีนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share