แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518มาตรา 32 กำหนดไว้ชัดว่า เมื่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดซื้อที่ดินแล้ว สิทธิของผู้เช่าที่ดินตามสัญญาเช่าหรือตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเช่านาต้องสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นผลของกฎหมาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงผู้เช่าจะเป็นใครหรือเช่าอยู่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และ ท.ผู้ตายบุตรของจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว ก็ถือว่าสัญญาเช่าที่ดินที่มีอยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 และ ท.กับจำเลยที่ 3 ได้สิ้นสุดลง จำเลยที่ 1และ ท.ไม่จำต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 ผู้เช่าซื้อที่ดินก่อน หรือและไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยที่ 3 จะต้องทราบก่อนว่าจะมีการซื้อขายที่ดินกันหรือไม่ ส่วน พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 เป็นกฎหมายที่บัญญัติสืบเนื่องมาจากพ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ซึ่งถูกยกเลิกไป เหตุที่ต้องแก้ไขยกเลิกก็เพราะ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มีรายละเอียดไม่เหมาะสมและแก้ไขเพื่อให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หาได้แก้ไขให้มีผลกระทบถึงพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ไม่ ผู้เช่าย่อมอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิรูปตามมาตรา 32 นี้ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มายันโจทก์ผู้จะซื้อได้ และจำเลยที่ 2ผู้รับมรดกของ ท.ซึ่งต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจะซื้อขายด้วย จึงต้องจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย และเมื่อจำเลยที่ 2 ได้ยกที่ดินดังกล่าวอันเป็นมรดกของ ท.ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 237,238 ซึ่งศาลจะมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำขอของโจทก์ได้ก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมตามฟ้องโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทั้งไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้ให้กับจำเลยที่ 1 ผู้รับให้ซึ่งเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ประกอบด้วยมาตรา 238 และโจทก์ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ก็ตาม แต่เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาจึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้