แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 4 เป็นนายทะเบียนตำบล มีหน้าที่ออกมรณบัตรในกรณีที่มีผู้ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 4 ได้ออกมรณบัตรให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีข้อความแสดงว่า นาย ท.ราษฎรในตำบลนั้น ได้ถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งเป็นความเท็จความจริงนาย ท. ยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้ เอกสารที่จำเลยที่ 4ออกนั้น ได้ออกให้ตามหน้าที่ที่เป็นนายทะเบียนจึงเป็นเอกสารอันแท้จริงของจำเลยที่ 4 แม้ข้อความในเอกสารจะไม่ตรงต่อความจริง ก็ไม่ทำให้เอกสารนั้นกลายเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 4 จึงยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๔ เป็นนายทะเบียนตำบลคันธารราษฎร์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความใบมรณบัตร ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ปลอมมรณบัตรขึ้นทั้งฉบับโดยกรอกข้อความลงไปเพื่อแสดงว่านายทอง สง่าดี ราษฎรในตำบลคันธารราษฎร์ได้ถึงแก่ความตายและได้ทำการเผาแล้วซึ่งความจริงนายทองยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ ด้วยเจตนาให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่านายทองถึงแก่ความตายแล้วจริง อันน่าจะเกิดเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนแล้วต่อมาจำเลยได้ร่วมกันใช้เอกสารดังกล่าวซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเอกสารราชการปลอมนั้นโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนทั่วไป แสดงแก่บริษัทกรุงสยามประกันชีวิต จำกัดโดยเจตนาหลอกลวงให้บริษัทดังกล่าวจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์๑๐,๐๐๐ บาทให้จำเลยที่ ๒ นำมาแบ่งระหว่างจำเลยทั้งหมด แต่บริษัทกรุงสยามประกันชีวิต จำกัด ตรวจสอบพบความจริงเสียก่อนจึงไม่จ่ายเงินให้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑, ๒๖๕, ๒๖๘, ๓๔๑, ๘๐, ๘๓
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ขอถอนกลับให้การใหม่รับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า หากข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องจำเลยก็ยังไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ จำเลยที่ ๑กับจำเลยที่ ๔ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำผิดฐานพยายามฉ้อโกงพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่คนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๐ วางโทษจำคุกคนละ ๔ เดือน ปรานีลดโทษที่รับสารภาพให้จำเลยที่ ๒ หนึ่งในสามให้จำเลยที่ ๓ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ ๒มีกำหนด ๒ เดือน ๒๐ วัน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน มีกำหนดเท่าโทษจำคุก จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๒ เดือน และให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามมาตรา ๕๖ ข้อหานอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๖๑, ๘๓ ด้วย และไม่ควรลดโทษให้จำเลยที่ ๓ กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ ๔อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๔ ออกมรณบัตรให้โดยเชื่อด้วยสุจริตใจว่านายทอง สง่าดี ตายจริงตามที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาแล้วจึงไม่มีผิดฐานพยายามฉ้อโกงและตามมาตรา ๑๖๑ ส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓คงมีความผิดเพียงฐานพยายามฉ้อโกงเท่านั้น และศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยที่ ๓ มากไป จึงพิพากษาแก้ ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๔ ไปทั้งสิ้นกับให้ลดโทษจำเลยที่ ๓ เพียงหนึ่งในสาม คงจำคุก ๒ เดือน ๒๐ วันและรอการลงโทษไว้ นอกจากที่แก้ คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๔ ฐานพยายามฉ้อโกงและตามมาตรา ๑๖๑กับให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑, ๘๖, ๘๓ แต่ต่อมาระหว่างฎีกาผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์เฉพาะจำเลยที่ ๔ ศาลฎีกาสั่งให้คดีเฉพาะจำเลยที่ ๔ ในข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๒)คงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์เพียงว่าจำเลยที่ ๔มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑ และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓มีความผิดฐานสนับสนุนในความผิดดังกล่าวหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความว่า จำเลยที่ ๔เป็นนายทะเบียนตำบลคันธารราษฎร์ มีหน้าที่ออกมรณบัตรในกรณีที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มรณบัตรหมาย จ.๒ ของสำนักทะเบียนตำบลคันธารราษฎร์เลขที่ ๒๑/๒๕๑๒ ที่โจทก์อ้างและกล่าวหาว่าเป็นเอกสารที่จำเลยที่ ๔ ทำปลอมขึ้นนั้น เป็นเอกสารซึ่งจำเลยที่ ๔ ออกให้แก่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะที่จำเลยที่ ๔ เป็นนายทะเบียนตำบลนั้น เอกสารฉบับนี้มีข้อความแสดงว่านายทอง สง่าดี ราษฎรตำบลคันธารราษฎร์ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๒๐เมษายน ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงนายทอง สง่าดี ยังมีชีวิตอยู่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารหมาย จ.๒ ดังกล่าวข้างต้นเป็นเอกสารของจำเลยที่ ๔ ออกให้ตามหน้าที่ที่จำเลยที่ ๔ เป็นนายทะเบียนจึงเป็นเอกสารอันแท้จริงของจำเลยที่ ๔ แม้ข้อความในเอกสารจะไม่ตรงต่อความจริง ก็ไม่ทำให้เอกสารนั้นกลายเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ ๔จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑ หากจะมีความผิดเพราะเอกสารที่จำเลยทำขึ้นมีข้อความเป็นเท็จ ก็จะผิดได้แค่ตามบทมาตราอื่นซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องและมิได้ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยที่ ๔ ไม่อาจจะมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษได้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ ๔ รู้ในขณะทำมรณบัตรว่านายทอง สง่าดี ยังมีชีวิตอยู่จริงหรือไม่จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดนั้นด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน