คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2242/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พี่ชายของโจทก์ร่วมผู้ตายเกิดจากบิดามารดาเดียวกัน และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ร่วมผู้ตาย มิใช่บุคคลตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 ที่จะขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตายได้ จึงไม่มีสิทธิถอนคำร้องทุกข์หรือมีคำขออื่นใดแทนโจทก์ร่วมผู้ตายได้ เช็คพิพาทสั่งจ่ายเงิน 500,000 บาท ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาจำเลยชำระเงินให้โจทก์ร่วม 20,000 บาท และระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยได้ชำระเงินที่เหลือในเช็คพิพาทแล้วเป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำความผิด จึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำเลยให้การปฏิเสธระหว่างการพิจารณานายปรีชา ปานดำ ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต เมื่อเสร็จการสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมจำเลยขอให้การรับสารภาพและชดใช้เงินให้โจทก์ร่วม 20,000 บาทยังขาดอีก 480,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายสอั๊ด ปานดำ ยื่นคำร้องว่าเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ร่วม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2531โจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย ศาลแพ่งมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ร่วมผู้ตาย ผู้ร้องจึงขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตายและผู้ร้องได้รับชดใช้เงินตามเช็คพิพาทคดีนี้แล้วไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป จึงได้ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ขอศาลอนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องทุกข์ หากผู้ร้องไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ได้ขอศาลลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า แม้ผู้ร้องเป็นพี่ชายและเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ร่วมผู้ตายแต่มิใช่บุคคลตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 ที่จะขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตายต่อไปได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงหามีสิทธิถอนคำร้องทุกข์หรือมีคำขออื่นใดแทนโจทก์ร่วมผู้ตายไม่ให้ยกคำร้องและพิพากษายืน จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ร่วมผู้ตายจะมีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตายต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องเป็นพี่ชายของโจทก์ร่วมผู้ตายเกิดจากบิดามารดาเดียวกันและเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ร่วมผู้ตายด้วยก็ตาม แต่ผู้ร้องมิใช่บุคคลตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 ที่จะขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตายโดยอนุโลมต่อไปได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงหามีสิทธิถอนคำร้องทุกข์หรือมีคำขออื่นใดแทนโจทก์ร่วมผู้ตายไม่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งชอบแล้วฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า มีเหตุอันสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ร่วมก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาจำนวน 20,000 บาท และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยได้ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องตามจำนวนส่วนที่เหลือในเช็คพิพาทแล้ว แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตายก็ตาม แต่ผู้ร้องก็เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ร่วมผู้ตายมีสิทธิและหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จึงรับเงินส่วนที่เหลือในเช็คพิพาทจากจำเลยได้ เท่ากับจำเลยได้บรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำผิดแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีการกระทำผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงนัก กรณีมีเหตุอันสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share