คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22313/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม่ว่าอักษรจีน คำว่า “เตี้ยน สุ่ย โหลว” จะแปลว่า ภัตตาคารที่ขายอาหารว่างและน้ำ หรือองค์การที่เกี่ยวกับน้ำก็ตาม แต่อักษรจีนคำว่า เตี้ยน สุ่ย โหลว เป็นอักษรจีนที่ใช้ทั่วไป อาจมีสำเนียงและลีลาการออกเสียงแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าเป็นภาษาจีนกลาง จีนแต้จิ๋ว หรือจีนกวางตุ้ง และสามารถแปลความหมายได้หลายอย่าง ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้ในเครื่องหมายการค้าหรือบริการของตนได้ บุคคลใดจะอ้างเป็นผู้ถือสิทธิของตนแต่ผู้เดียวไม่ได้
แม้เครื่องหมายบริการของโจทก์ยังมีอีกภาคส่วน คือ รูปรอยประดิษฐ์ลักษณะวงกลมอยู่บนอักษรจีนคำกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้วอาจทำให้เข้าใจว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายดังกล่าวแตกต่างไปจากบริการอื่น แต่เมื่ออักษรจีนดังกล่าวไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ก็เป็นกรณีที่ต้องให้โจทก์แสดงเจตนาว่าจะไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 17 วรรคหนึ่ง (1) แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายหรือมีคำขอท้ายฟ้องทั้งไม่ได้อุทธรณ์ไว้ จึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายบริการของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ และเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้จำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการอักษรจีน คำว่า “เตี้ยน สุ่ย โหลว” พร้อมรูปรอยประดิษฐ์ ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ ๖๐๕๕๐๙ ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ ๐๗๔/๖๑๑๘ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ ๑๑๖๙/๒๕๕๐ เรื่อง เครื่องหมายบริการ รูป รอยประดิษฐ์และอักษรจีนคำว่า “เตี้ยน สุ่ย โหลว” คำขอเลขที่ ๖๐๕๕๐๙ ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ ๖๐๕๕๐๙ ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามฟ้องมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ดินแดนไต้หวัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อประกอบธุรกิจให้ บริการอาหารระดับสูงหรือภัตตาคารครั้งแรกที่ดินแดนไต้หวันโดยใช้เครื่องหมายบริการอักษรจีนคำว่า “เตี้ยน สุ่ย โหลว” พร้อมรูปรอยประดิษฐ์ อย่างต่อเนื่องยาวนานจนเป็นที่รู้จักนิยมอย่างแพร่หลาย ต่อมาในปี ๒๕๔๗ โจทก์เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นที่นานจิง และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวในอีกหลายประเทศ ตามหลักฐานการจดทะเบียนซึ่งเครื่องหมายบริการดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ อักษรจีนคำว่า ” เตี้ยน” ปัจจุบันลดรูปเป็น แปลว่า จุด หรือแต้ม มิได้แปลว่า ติ่มซำ หรืออาหารว่างคำว่า ” สุ่ย ” แปลว่า น้ำหรือแม่น้ำ และคำว่า ” โหลว ” แปลว่า ตึก หรืออาคาร ดังนั้น จึงไม่อาจแปลว่าภัตตาคารที่ขายอาหารว่างและน้ำ แต่อาจแปลรวมกันแล้วมีความหมายว่า องค์กรที่เกี่ยวกับน้ำ ไม่ใช่องค์กรที่เกี่ยวกับร้านค้าหรือภัตตาคารที่เกี่ยวกับอาหาร จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ เครื่องหมายบริการดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบริการที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป เป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้บริโภค ส่วนจำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการอักษรจีนรูปรอยประดิษฐ์ ตามคำขอเลขที่ ๖๐๕๕๐๙ โดยระบุคำอ่านว่า “เตี้ยม จุ้ย เล้า” คำว่า “เตี้ยม” แปลว่า จุด รอย คำว่า “จุ้ย” แปลว่า น้ำ คำว่า “เล้า” แปลว่า ตึก เพื่อใช้สำหรับบริการจำพวกที่ ๔๓ รายการบริการภัตตาคาร ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการโจทก์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า มีข้อบกพร่องตามพระราชบัญญัติเครื่อง หมาย การค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๑ เพราะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง จึงมีคำสั่งให้อ่านและแปลเป็นสำเนียงจีนกลางและจีนแต้จิ๋วนอกจากนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์มีบางส่วนที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙ จึงมีคำสั่งให้ยื่นหนังสือแสดงเจตนาว่าจะไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนคำว่า “เตี้ยน สุ่ย โหลว” ตามมาตรา ๑๗ ตามสำเนาหนังสือแจ้งคำสั่งนายทะเบียนเครื่อง หมายการค้า ต่อมาวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ โจทก์ยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนโดยขอแก้ไขคำอ่านใหม่เป็นสำเนียงจีนกลางว่า “เตี้ยน สุ่ย โหลว” และอ่านตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วว่า “เตี้ยม จุ้ย เล้า” ตามสำเนาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนและยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โดยอ้างเหตุผลว่า โจทก์ไม่มีความเห็นแย้งคำสั่งให้สละสิทธิการใช้อักษรคำว่า “โหลว” ที่แยกต่างหากจากเครื่องหมาย แต่คำสั่งให้สละสิทธิการใช้อักษรจีนคำว่า “เตี้ยน” และ “สุ่ย” โจทก์เห็นว่าคำดังกล่าวทั้งสองคำไม่มีลักษณะของการสื่อให้เห็นลักษณะของคุณสมบัติของบริการภัตตาคาร ดังนั้น จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพียงพอต่อการรับจดทะเบียนได้โดยไม่ต้องสละสิทธิการใช้คำทั้งสองดังกล่าวแต่อย่างใด ตามสำเนาคำอุทธรณ์พร้อมเอกสาร คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเห็นว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์มีอักษรจีนคำว่า “เตี้ยน สุ่ย โหลว” ซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายตามพจนานุกรมจีน – ไทย ฉบับใหม่โดยเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ คำว่า “เตี้ยน” แปลว่า ติ่มซำ อาหารว่าง คำว่า “สุ่ย” แปลว่า น้ำ คำว่า “โหลว” แปลว่าภัตตาคาร รวมกันแปลว่า ภัตตาคารที่ขายอาหารว่างและน้ำ เมื่อนำมาใช้กับบริการจำพวกที่ ๔๓ รายการบริการ ภัตตาคาร ทำให้เข้าใจได้ว่าบริการภายใต้เครื่องหมายบริการนี้เป็นบริการภัตตาคารที่ขายอาหารว่างและน้ำนับว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของบริการโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ส่วนหลักฐานที่โจทก์นำส่งได้แก่ เว็บไซต์การท่องเที่ยวของไต้หวัน เว็บไซต์ของหอการค้าอเมริกาในเมืองไทเป เว็บไซต์หัวข้อธุรกิจในไต้หวัน สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวในดินแดนไต้หวัน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และประเทศญี่ปุ่น ยังไม่พอที่จะรับฟังได้ว่าเครื่องหมายบริการของโจทก์ได้มีการใช้หรือโฆษณาจนแพร่หลายแล้วในประเทศไทยอันจะถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๑ วรรคสอง ประกอบระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอเพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๕ ข้อ ๑๘ พิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยมีมติให้รอการวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งได้แจ้งให้โจทก์ยื่นคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐาน ต่อมาวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ โจทก์ได้ยื่นคำชี้แจงเหตุอันควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการให้แก่โจทก์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาอุทธรณ์พร้อมพยานหลักฐานและข้อชี้แจงของโจทก์แล้วเห็นว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์และพยานหลักฐานที่โจทก์นำส่งยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์ได้มีการโฆษณาหรือใช้เครื่องหมายบริการนั้นจนเป็นที่แพร่หลายแล้วในประเทศไทยอันจะถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๘๐ ประกอบมาตรา ๖ จึงมีมติยืนยันตามความเห็นเดิมโดยไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์ ตามมาตรา ๘๐ ประกอบมาตรา ๑๖ ตามสำเนาหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เห็นว่า ไม่ว่าอักษรจีนคำว่า “เตี้ยน สุ่ย โหลว” จะแปลว่า ภัตตาคารที่ขายอาหารว่างและน้ำ หรือองค์การที่เกี่ยวกับน้ำก็ตาม แต่อักษรจีนคำว่า เตี้ยน สุ่ย โหลว เป็นอักษรจีนที่ใช้ทั่วไป อาจมีสำเนียงและลีลาการออกเสียงแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าเป็นภาษาจีนกลาง จีนแต้จิ๋ว หรือจีนกวางตุ้ง และสามารถแปลความหมายได้หลายอย่าง ซึ่งบุคคลทั่วไปย่อมสามารถนำไปใช้ในเครื่องหมายการค้าหรือบริการของตนได้ โดยบุคคลใดจะอ้างเป็นผู้ถือสิทธิของตนแต่ผู้เดียวย่อมไม่ได้ ทั้งโจทก์มีเพียงเว็บไซต์ท่องเที่ยวของดินแดนไต้หวัน เว็บไซต์ของหอการค้าอเมริกาในเมืองไทเป เว็บไซต์หัวข้อธุรกิจในไต้หวัน และสำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวในดินแดนไต้หวันเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และประเทศญี่ปุ่น มาแสดงซึ่งก็ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เครื่องหมายบริการดังกล่าวได้มีการบริการหรือโฆษณาบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการนั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว อันจะถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ
อนึ่ง แม้เครื่องหมายบริการของโจทก์ยังมีอีกภาคส่วนคือ รูปรอยประดิษฐ์ลักษณะวงกลมอยู่บนอักษรจีนคำกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้งเครื่องหมายประกอบกันแล้วอาจมีลักษณะเป็นเครื่องหมายบริการที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบและเข้าใจว่าเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างไปจากบริการอื่น แต่เมื่ออักษรจีนดังกล่าวไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ก็เป็นกรณีที่ต้องให้โจทก์แสดงเจตนาว่าจะไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนดังกล่าวตามมาตรา ๘๐ ประกอบมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง (๑) แต่ประเด็นดังกล่าวโจทก์ไม่ได้บรรยายหรือมีคำขอท้ายฟ้องทั้งไม่ได้อุทธรณ์ไว้ จึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ เมื่อเครื่องหมายบริการดังกล่าว ไม่เป็นเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันจะพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๘๐ ประกอบ มาตรา ๖ (๑) และมาตรา ๗ วรรคสาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษานั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share