คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2229/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้างผู้อำนวยการระหว่างจำเลยที่ 1 กับ พ. กำหนดว่า พ. มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย ภายใต้นโยบายและการควบคุมดูแลของคณะกรรมการจำเลยที่ 1 พ. ต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่ยับยั้งหรือสั่งการเมื่อเห็นว่า พ. ปฏิบัติงานใด ๆ ขัดต่อกฎหมาย นโยบายหรือมติของคณะกรรมการ หรือเป็นไปในทางที่อาจทำให้เสียประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และในระหว่างอายุสัญญา คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จะพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานของ พ. ทุกปี ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ท้ายสัญญา คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของ พ. ได้ เมื่อผลการปฏิบัติงานของ พ. ไม่เป็นที่พอใจของคณะกรรมการและคณะกรรมการเห็นว่าการปฏิบัติงานของ พ. เป็นไปในทางที่อาจทำให้จำเลยที่ 1 เสียประโยชน์ จึงสามารถยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของ พ. ได้ และ พ. ต้องปฏิบัติตามไม่ว่าจะได้ทำผิดระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายหรือไม่
คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ พ. รับตำแหน่งที่ปรึกษาโดยให้การดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของ พ. มีผลเมื่อกระทรวงการคลังอนุมัติตำแหน่ง และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทน พ. ให้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการองค์การจำเลยที่ 1 โดย พ. ไม่ต้องรับผิดชอบในผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2545 เป็นต้นไป ส่วนหนึ่งเป็นการยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการของ พ. อีกส่วนหนึ่งเป็นการให้ พ. ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาเมื่อกระทรวงการคลังอนุมัติ ซึ่งแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น ไม่ว่ากระทรวงการคลังจะได้อนุมัติตำแหน่งที่ปรึกษาของ พ. แล้วหรือไม่ และจะได้มีการถอดถอน พ. ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการหรือไม่ พ. ก็ไม่อาจทำหน้าที่ผู้อำนวยการต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้อำนวยการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่ง พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 24 บัญญัติให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ทำการแทน แม้ขณะที่ พ. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จะมีจำเลยที่ 2 เป็นรองผู้อำนวยการซึ่งมาตราดังกล่าวบัญญัติให้เป็นผู้ทำการแทนไว้แล้ว การที่คณะกรรมการมีมติและคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทน พ. อีก ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นผู้ทำการแทน พ. เพราะมติและคำสั่งของคณะกรรมการเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจกระทำการแทน
จำเลยที่ 2 ออกคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 102/2545 ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่าง โจทก์ได้โต้แย้งเฉพาะเรื่องตำแหน่งที่ให้โจทก์ไปดำรงโดยมิได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ออกคำสั่ง ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่า พ. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อ พ. สั่งการให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติงานที่สำนักงาน อ.ส.ค. กรุงเทพมหานครในวันที่ 28 พ.ค. 2545 ภายหลังจากที่โจทก์ได้โต้แย้งคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 102/2545 และจำเลยที่ 2 ได้แก้ไขข้อผิดพลาดในคำสั่งดังกล่าวด้วยการออกคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 107/2545 แล้วโจทก์จะอ้างว่าโจทก์เชื่อโดยสุจริตว่า พ. ยังมีอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 และโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ พ. ไม่ได้ การที่โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของ พ. และไม่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 107/2545 จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่า 7 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งการละทิ้งหน้าที่การงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรของพนักงานรัฐวิสาหกิจ แม้เพียง 3 วันทำงานติดต่อกัน ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์พนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ข้อ 46 (4) ก็กำหนดให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่า 7 วันโดย ไม่มีเหตุอันสมควรของโจทก์จึงเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

2/2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งที่มีอยู่ในโครงสร้างของจำเลยที่ 1 โดยรับอัตราค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่าเดิม และให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างในระหว่างโจทก์ถูกพักงานและเลิกจ้างพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยให้ถือเสมือนว่าไม่เคยมีการพักงานและเลิกจ้างมาก่อน หากจำเลยไม่อาจรับโจทก์เข้าทำงานได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 5,944,096.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “สัญญาจ้างผู้อำนวยการระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายพิเชฐ ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 กำหนดว่า นายพิเชฐมีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้อำนวยการ ภายใต้นโยบายและการควบคุมดูแลของคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 นายพิเชฐต้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ยับยั้งหรือสั่งการเมื่อเห็นว่านายพิเชฐปฏิบัติงานใดๆ ขัดต่อกฎหมาย นโยบายหรือมติของคณะกรรมการหรือเป็นไปในทางที่อาจทำให้เสียประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และในระหว่างอายุสัญญาคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จะพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานของนายพิเชฐทุกปี ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ท้ายสัญญา คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานนายพิเชฐได้ เมื่อผลการปฏิบัติของนายพิเชฐผ่านการประเมินเพียง 51 เปอร์เซ็นต์ ไม่เป็นที่พอใจของคณะกรรมการ แสดงว่าคณะกรรมการเห็นว่าการปฏิบัติงานของนายพิเชฐเป็นไปในทางที่อาจทำให้เสียประโยชน์ของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการจึงสามารถยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของนายพิเชฐได้ และนายพิเชฐต้องปฏิบัติตามไม่ว่านายพิเชฐจะได้ทำผิดระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายหรือไม่ การที่คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้นายพิเชฐรับตำแหน่งที่ปรึกษาโดยให้การดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายพิเชฐมีผลเมื่อกระทรวงการคลังอนุมัติตำแหน่ง และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนนายพิเชฐ ให้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการองค์การจำเลยที่ 1 โดยนายพิเชฐไม่ต้องรับผิดชอบในผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2545 เป็นต้นไป นั้น ส่วนหนึ่งเป็นการให้ยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการของนายพิเชฐ อีกส่วนหนึ่งให้นายพิเชฐไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาเมื่อกระทรวงการคลังอนุมัติตำแหน่งซึ่งแยกต่างหากจากนั้น ดังนั้น ไม่ว่ากระทรวงการคลังจะได้อนุมัติตำแหน่งที่ปรึกษาแล้วหรือไม่ และได้มีการถอดถอนนายพิเชฐออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการหรือไม่ นายพิเชฐก็ไม่อาจทำหน้าที่ผู้อำนวยการต่อไปได้จึงเป็นกรณีที่ผู้อำนวยการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความใน พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2514 มาตรา 24 ซึ่งบัญญัติให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ทำการแทน ถ้าไม่มีรองผู้อำนวยการหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งหรือพนักงานคนหนึ่งซึ่งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13 (1) (2) (4) เป็นผู้ทำการแทนผู้อำนวยการ แม้ขณะที่นายพิเชฐผู้อำนวยการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จะมีจำเลยที่ 2 เป็นรองผู้อำนวยการซึ่งมาตราดังกล่าวบัญญัติให้เป็นผู้ทำการแทนไว้แล้ว การที่คณะกรรมการมีมติและคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนนายพิเชฐผู้อำนวยการอีก ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นผู้ทำการแทนนายพิเชฐผู้อำนวยการแต่อย่างใด เพราะมติและคำสั่งของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้อำนวยการ
ส่วนข้ออุทธรณ์ของโจทก์ประการหลัง เฉพาะในส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางชอบที่จะรับฟังตามข้อบังคับ อ.ส.ค. ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนงาน พ.ศ.2541 เอกสารหมาย ล.4 ว่า ตำแหน่งนิติกร 8 และนักวิชาการ 8 ไม่มีอยู่ในอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 การออกคำสั่งโยกย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งนิติกร 8 หรือ นักวิชาการ 8 จึงเป็นการกำหนดอัตรากำลังขึ้นใหม่ เมื่อไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเจ้าสังกัดก่อนทำความตกลงกับกระทรวงการคลังตามมติคณะรัฐมนตรีจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลแรงงานกลางไม่ควรรับฟังตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และข้อบังคับ อ.ส.ค. ว่าด้วยพนักงาน พ.ศ.2539 เอกสารหมาย ล.2 ว่า มีตำแหน่งนิติกร 6 ตำแหน่งนักวิชาการ 8 อยู่ในอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 คำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 102/2545 ที่โยกย้ายโจทก์ให้ไปดำรงตำแหน่งนิติกร 6 เป็นเรื่องการระบุตำแหน่งผิดพลาดไปจากตำแหน่งในระดับ 8 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องเป็นตำแหน่งนักวิชาการ 8 โดยการออกคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 107/2545 นั้น เห็นได้ว่าเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และต้องรับฟังว่าคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 102/2545 ซึ่งสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่างเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่โจทก์อ้างว่าเพราะนายพิเชฐยังยืนยันที่จะปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการและได้สั่งการให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติงานที่สำนักงาน อ.ส.ค. กรุงเทพมหานคร อีกหน้าที่หนึ่ง ตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์จึงเชื่อโดยสุจริตว่านายพิเชฐยังมีอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 และโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายพิเชฐ การที่โจทก์ไม่เดินทางไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่าง ตามคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 107/2545 จึงไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่า 7 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เห็นว่า ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์เองว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ออกคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 102/2545 ให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่าง โจทก์ได้โต้แย้งเฉพาะเรื่องตำแหน่งที่ให้โจทก์ไปดำรงโดยมิได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ออกคำสั่ง อันเป็นการยอมรับว่านายพิเชฐไม่มีอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 ว่า นายพิเชฐสั่งการให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติงานที่สำนักงาน อ.ส.ค. กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 ภายหลังจากที่โจทก์ได้โต้แย้งคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 102/2545 และจำเลยที่ 2 ได้แก้ไขข้อผิดพลาดในคำสั่งดังกล่าวด้วยการออกคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 107/2545 แล้ว โจทก์จึงอ้างว่าโจทก์เชื่อโดยสุจริตว่านายพิเชฐยังมีอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 และโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายพิเชฐไม่ได้ การที่โจทก์ไม่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่างตามคำสั่ง อ.ส.ค. ที่ 107/2545 จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่า 7 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร การละทิ้งหน้าที่การงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรของพนักงานรัฐวิสาหกิจแม้เพียง 3 วันทำงานติดต่อกัน ระเบียบคณะกรรมการัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 46 (4) ยังกำหนดให้รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่า 7 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรของโจทก์จึงเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share