คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ ย.เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่เมื่อศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้วฟังว่า ย.เป็นทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ และจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วจริง ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งตั้ง ย.เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะต่อไป
จำเลยที่ 1 ขายที่ดินที่พิพาทให้แก่ ค.ในระยะเวลาห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามกฎหมาย แม้ตามสัญญาซื้อขายจะมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1พร้อมจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อในเมื่อผู้ซื้อเรียกร้องได้ทุกเวลา และมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตามแต่ก็เห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่าง ค.กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ที่จะโอนสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวพร้อมหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้น (น.ส.3 ก.) ให้แก่กัน ข้อความดังกล่าวระบุไว้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามคำฟ้องระหว่าง ค.กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามป.พ.พ.มาตรา 150 ย่อมไม่มีผลบังคับ จึงต้องถือว่า ค.ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดเวลา แม้ ค.จะครอบครองที่ดินดังกล่าวมานานเพียงใด ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ดังนั้น แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทจาก ค.และรับโอนการครอบครองที่ดินดังกล่าวมาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี ที่กฎหมายห้ามโอนแล้วก็ตาม แต่เมื่อค.ผู้โอนไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น โจทก์ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่าสิทธิที่ ค.ผู้โอนมีอยู่ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามคำฟ้อง และต้องฟังว่าโจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1
โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาและโจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องให้ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว

Share