คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 8912เป็นของโจทก์ ถูกฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าครอบครอง จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ทั้งยังต่อสู้ว่าเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8437 อันเป็นที่ดินของฝ่ายจำเลยภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนของที่ดินโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 8912 มิใช่ของจำเลยทั้งสองและฝ่ายจำเลยได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรูปที่ดิน ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8437 แล้วบุกรุกเข้าครอบครองดังที่กล่าวในฟ้อง ทนายโจทก์คนเดิมแถลงไม่ติดใจสืบพยานและศาลได้สั่งอนุญาตให้งดสืบพยานโจทก์ไว้แล้ว ต่อมาก่อนสืบพยานจำเลยโจทก์แต่งตั้งทนายความคนใหม่และทนายความคนใหม่ของโจทก์ยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง แล้วดำเนินการสืบพยานจำเลยต่อไป คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8912ตำบลจักราช อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีอาณาเขตทิศเหนือจดทางและลำรางสาธารณประโยชน์ ทิศใต้จดคลองลาดชะโด ทิศตะวันออกจดที่ดินโฉนดเลขที่ 8437 ของจำเลยทั้งสอง ทิศตะวันตกจดคลองลาดชะโดและลำรางสาธารณประโยชน์เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2527 โจทก์ได้ขอให้พนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์เนื่องจากปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้ามาปลูกสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์ด้านตะวันออกเพื่อทำเป็นท่ารถยนต์โดยสาร แต่จำเลยคัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่าโจทก์รังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินจำเลย โจทก์ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับโฉนดที่ดินเลขที่ 8437 ของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2505 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปที่ดินของจำเลยใหม่ และมีการปักหลักเขตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ เป็นเนื้อที่ประมาณ1 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8912 ของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองจัดการแก้ไขรูปแบบแผนที่และหลักเขตของจำเลยให้เป็นไปตามเดิม ถ้าจำเลยไม่จัดการแก้ไข ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 8437 เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา และที่ดินของจำเลยทั้งสอง มีหลักเสาหินของสำนักงานที่ดินปักไว้ทุกด้านจะมีการร่นรูปแบบแผนที่ในโฉนดที่ดินของจำเลยหรือไม่ จำเลยไม่อาจจะทราบได้ ที่โจทก์ทำการรังวัดเพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินของโจทก์นั้นโจทก์ได้นำชี้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 35 ตารางวา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และแผนที่ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8437 ของจำเลยนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8912ตำบลจักราช อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8437 มีอาณาเขตติดกับที่ดินโจทก์ทางด้านตะวันออก ในชั้นทำแผนที่พิพาทโจทก์นำชี้ว่าที่ดินบริเวณภายในเส้นสีแดงเป็นที่ดินโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8912 ส่วนจำเลยทั้งสองนำชี้ว่าที่ดินบริเวณภายในเส้นสีเขียวเป็นที่ดินจำเลยตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8437 ที่ดินส่วนที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำชี้ทับกัน และเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ คือที่ดินรูปสี่เหลี่ยมก. ข. ค. ง. ซึ่งมีโรงจอดรถยนต์ของฝ่ายจำเลยปลูกอยู่ตามแผนที่พิพาท คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าที่ดินพิพาทนี้เป็นที่ดินของโจทก์ และถูกฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้ามาครอบครองหรือไม่ในประเด็นข้อนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ทั้งยังต่อสู้ว่า เป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8437 อันเป็นที่ดินของฝ่ายจำเลย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนของที่ดินโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 8912 มิใช่ของจำเลยทั้งสอง และฝ่ายจำเลยได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงรูปที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8437 แล้วบุกรุกเข้าครอบครองดังที่กล่าวในฟ้อง แต่โจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้ปรากฏเช่นนั้น จำเลยทั้งสองกลับเป็นฝ่ายนำสืบถึงสิทธิของฝ่ายตนที่มีอยู่เหนือที่ดินพิพาทนั้นแต่ฝ่ายเดียว ส่วนพยานเอกสารที่โจทก์นำมาคัดค้านพยานจำเลยในชั้นพิจารณาซึ่งได้แก่เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 นั้น ก็แสดงได้แต่เพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 1ขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 8437 เพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมโจทก์ได้คัดค้านการรังวัดและเมื่อโจทก์ขอรับวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 8912 จำเลยที่ 1 ก็คัดค้านการรังวัดเช่นเดียวกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็เพียงแต่บันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้องไว้เท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้เบิกความรับว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิเหนือที่ดินพิพาท จึงไม่มีทางที่จะรับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และจำเลยเป็นฝ่ายบุกรุกเข้ามาครอบครอง ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ที่โจทก์เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน การที่จำเลยจะเถียงว่าเป็นที่ดินของจำเลย จำเลยจะต้องนำสืบว่า จำเลยได้มาโดยอาศัยกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา เห็นว่าความข้อนี้มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฎีกาอีกด้วยว่า คดีนี้ก่อนสืบพยานจำเลย โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้สืบพยานโจทก์ใหม่แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีในข้อนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าทนายโจทก์คนเดิมได้แถลงไม่ติดใจสืบพยานไว้และศาลได้สั่งอนุญาตให้งดสืบพยานโจทก์ไว้แล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ต่อมาก่อนสืบพยานจำเลย โจทก์แต่งตั้งทนายความคนใหม่เข้ามาและทนายความคนใหม่ของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องแล้วดำเนินการสืบพยานจำเลยไป ดังนี้คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ และมิได้อุทธรณ์แต่กลับยกขึ้นมาเป็นข้อฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ฉะนั้นจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน.

Share