คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2223/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระแทน มีผลเท่ากับว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินให้แก่โจทก์ก่อน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะใช้ได้ ก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ใช้แทนจนครบ โจทก์จึงต้องดำเนินการบังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน (วินิจฉัยตามแนวฎีกาที่ 838/2494) ดังนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689 ก็จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้ และการบังคับชำระหนี้นั้นจะต้องไม่เป็นการยากด้วย (วินิจฉัยตามแนวฎีกาที่ 980/2513)
โจทก์นำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมีที่ดิน 2 แปลง แต่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 โดยเห็นว่า โจทก์มีสิทธิเลือกบังคับจากจำเลยคนใดก็ได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีโอกาสที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินดังกล่าวอ้างอันจะบังคับชำระหนี้ให้โจทก์ได้หรือไม่ จึงควรที่ศาลชั้นต้นจะได้ดำเนินการไต่สวนในเรื่องทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้เป็นที่ยุติเสียก่อน ไม่ควรให้โจทก์บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ไปได้ทีเดียว

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้ชำระเงินตามสัญญากู้โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินตามสัญญากู้ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระแทน คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยึดห้องแถวไม้ของจำเลยที่ ๓ มาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำขอของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องว่าโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ ๑ จำนวน ๙๘ ไร่เศษไว้แล้ว ซึ่งพอชำระหนี้ให้โจทก์ได้ครบถ้วนตามฟ้อง แต่โจทก์มิได้ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑เสียก่อนกลับมาบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ ๓ เพียงคนเดียว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริต โจทก์ควรบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้เสียก่อน หากไม่ครบจำนวนจึงชอบที่จะยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ผู้ค้ำประกัน ขอให้สั่งปล่อยการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีสิทธิเลือกบังคับคดีแก่จำเลยคนหนึ่งคนใดก็ได้ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ว่า โจทก์ยึดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ที่อำเภอดอนเจดีย์ไว้แล้ว แต่ไม่บังคับชำระหนี้ เป็นการกระทำไม่ชอบเพราะลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันย่อมมีฐานะรับผิดกันคนละวาระตามกฎหมาย ขอให้ปล่อยการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๓
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่จำเลยที่ ๓ กล่าวอ้างในฟ้องอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้นำยึดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ที่อำเภอดอนเจดีย์ไว้แล้ว อีกทั้งจำเลยที่ ๑ ยังมีที่ดินอำเภอสามชุกอีกนั้น เป็นการกล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ เพราะหาได้ปรากฏการยึดทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ แต่ประการใดไม่ จำเลยที่ ๑ ทราบคำพิพากษาและทราบคำบังคับแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ส่งคำบังคับให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ทราบโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๓ หรือจำเลยอื่นชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง ถ้าไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระแทน มีผลเท่ากับว่าให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินแก่โจทก์ก่อน ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถจะใช้ได้ ก็ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ใช้แทนจนครบ ฉะนั้น โจทก์จึงต้องดำเนินการบังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ก่อนแต่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๙ นั้นก็จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้ และการบังคับชำระหนี้นั้นจะต้องไม่เป็นการยากด้วย คดีนี้ตามคำร้องของจำเลยที่ ๓ ยืนยันว่าจำเลยที่ ๑ มีที่ดินที่อำเภอดอนเจดีย์และที่อำเภอสามชุก จำนวน ๔๘ ไร่เศษ แต่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ ๓ โดยเห็นว่าโจทก์มีสิทธิเลือกบังคับเอาจากจำเลยคนใดก็ได้ จำเลยที่ ๓ จึงไม่มีโอกาสที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยที่ ๑ มีทรัพย์สินดังกล่าวอ้างอันจะบังคับชำระหนี้ให้โจทก์ได้หรือไม่ ที่ดิน ๒๔ ไร่ ที่อำเภอดอนเจดีย์ ที่จำเลยที่ ๓ กล่าวอ้างมาในฟ้องอุทธรณ์ว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ และโจทก์อ้างมาในคำแก้อุทธรณ์ว่า ถูกเจ้าหนี้ในสำนวนอื่นยึดขายทอดตลาดไปแล้วก็เป็นข้อโต้เถียงกันที่ยังไม่มีการพิสูจน์ให้ชัดแจ้งว่าเป็นอย่างไรแน่ควรที่ศาลชั้นต้นจะได้ดำเนินการไต่สวนในเรื่องทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ให้เป็นที่ยุติเสียก่อน ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ ไปได้ทีเดียว พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share