แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยแพ้คดีแพ่งในชั้นอุทธรณ์ จึงฎีกาและร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกา ศาลมีคำสั่งให้หาหลักประกันในราคา 8 ล้านบาท ถ้าศาลพอใจหลักทรัพย์ก็ให้ทุเลาการบังคับ จำเลยเสนอหลักทรัพย์โดยตีราคามาให้พอแก่ราคาหลักประกันที่ศาลต้องการ แต่หลักทรัพย์นั้นมีใบหุ้นของบริษัทร้างซึ่งจำเลยรู้ดีว่าไม่มีมูลค่าแล้ว และมีโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยตีราคามาสูงเกินความจริงไปมากทำให้ศาลหลงเชื่อรับไว้เป็นหลักประกัน และอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ในคดีแพ่งนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดดังกล่าวนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 41/2509 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 1,202,000 บาทแก่โจทก์และห้ามขุดแร่ในที่ดินประทานบัตรพิพาท จำเลยกับพวกฎีกา และร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำเลยหาหลักประกันในราคาแปดล้านบาท โดยให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้พิจารณาหลักทรัพย์ ถ้าเป็นที่พอใจของศาลชั้นต้น ก็ให้ทุเลาการบังคับได้จำเลยได้นำหลักทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งตีราคามา 8 ล้านบาทเศษ มาวางศาลรวมทั้งใบหุ้นบริษัทไทยกสิกรอุตสาหกรรม จำกัด 1,227 หุ้น ซึ่งตีราคา 98,160 บาทด้วย และต่อมาได้นำหลักทรัพย์มาวางเพิ่มเติมอีกศาลชั้นต้นว่าหลักทรัพย์ที่วางไว้มีราคา 4 ล้านบาทเศษ ให้หาหลักประกันที่ยังขาดอยู่มาวาง จำเลยได้นำหลักทรัพย์อื่นรวมทั้งที่ดิน 3 โฉนดมาวาง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการซื้อขายด้วยศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ ความจริงเจ้าพนักงานได้ขีดชื่อบริษัทไทยกสิกรอุตสาหกรรม จำกัด ออกจากทะเบียน เป็นบริษัทร้างแล้วใบหุ้นของบริษัทดังกล่าวจึงไม่มีราคา จำเลยก็ทราบดีอยู่แล้วการที่จำเลยนำไปเป็นหลักทรัพย์วางประกันต่อศาลนั้น แสดงว่ามีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อว่าเป็นความจริง ยอมรับเอาใบหุ้นดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ประกันในการทุเลาการบังคับ และที่ดิน 3 โฉนดที่จำเลยนำมาเป็นหลักทรัพย์เพิ่มเติมนั้น นายบรรชัยซึ่งเป็นคนของจำเลยได้ซื้อมาจากเจ้าของเดิมในราคาไม่เกินไร่ละ 600 บาท แล้วนายบรรชัยโอนขายให้จำเลยในราคาไร่ละเกือบ 30,000 บาท รวมเป็น 4,800,000 บาท อันเป็นการสมคบกันเพื่อให้มีหลักฐานการซื้อขายว่าเป็นหลักทรัพย์ที่มีราคามาก และจำเลยได้นำหลักฐานดังกล่าวมาแสดงต่อศาลชั้นต้น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จในราคาที่ดินที่ร่วมกันทำขึ้น เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อจึงสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ การกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์และประชาชนได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 180
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดดังฟ้อง แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 คงผิดแต่ มาตรา 137 ปรับ 1,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกและปรับ
จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และว่าจำเลยมิได้กระทำผิด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นจำคุก 6 เดือน และปรับ 1,000 บาทโทษจำคุกให้รอไว้
จำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 41/2509 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และห้ามจำเลยขุดแร่ในที่ดินตามประทานบัตร โจทก์และจำเลยกับพวกฎีกา จำเลยได้ร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ให้จำเลยหาหลักประกันในราคา 8,000,000 บาท โดยให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักทรัพย์ถ้าเป็นที่พอใจของศาลชั้นต้น ก็ให้ทุเลาการบังคับได้ จำเลยกับพวกได้เสนอหลักทรัพย์รวมทั้งใบหุ้นของบริษัทไทยกสิกรอุตสาหกรรม จำกัดซึ่งพอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางได้ถอนทะเบียนเป็นบริษัทร้างแล้ว1,227 หุ้น โดยตีราคาหุ้นละ 80 บาท จำเลยตีราคาหลักทรัพย์ทั้งหมด12 ล้านบาทเศษ แต่ศาลชั้นต้นพอใจในราคาไม่เกิน 4,228,775 บาทจึงให้จำเลยกับพวกหาหลักทรัพย์เพิ่มเติม จำเลยกับพวกได้นำหลักทรัพย์มาวางเพิ่มเติม ตีราคา 7 ล้านบาทเศษ รวมทั้งที่ดินโฉนดที่ 9349,9350, 9351 ซึ่งจำเลยกับพวกตีราคา 4,800,000 บาท และได้เสนอหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน 3 โฉนดดังกล่าว ซึ่งระบุว่าซื้อขายกันในราคา 4,800,000 บาทด้วย ศาลชั้นต้นพอใจในหลักทรัพย์ที่จำเลยกับพวกนำมาวางจึงอนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างฎีกา ก่อนเสนอใบหุ้นบริษัทไทยกสิกรอุตสาหกรรม จำกัด จำเลยทราบแล้วว่าเป็นบริษัทร้าง ราคาที่ดินที่จำเลยตีมานั้นเกินความเป็นจริงไปมาก
คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีจึงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 41/2509 ของศาลชั้นต้นโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยตามคำพิพากษาของศาลการที่ศาลสั่งให้จำเลยหาหลักทรัพย์มาวางศาลก็เพื่อที่จะให้ได้หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดีด้วย การที่จำเลยนำใบหุ้นของบริษัทร้าง ซึ่งจำเลยรู้ดีว่าไม่มีมูลค่าไปแจ้งต่อศาลและตีราคาที่ดิน 3 แปลงสูงจากราคาที่เป็นจริงมาก ทำให้ศาลหลงเชื่อรับทรัพย์สินดังกล่าวไว้เป็นหลักประกัน แล้วอนุญาตให้ทุเลาการบังคับไป หากต้องมีการบังคับคดี โจทก์ก็จะไม่สามารถบังคับคดีเอาจากหลักประกันที่จำเลยนำมาวางศาลได้ครบเต็มตามจำนวน จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ของจำเลย โจทก์เป็นผู้เสียหายตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
พิพากษายืน