คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดิน 1 แปลงจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงอื่นของตนจำนวน 3 แปลง ให้จำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงอื่นให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เพราะหนี้ที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์นั้น เป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงซึ่งระบุไว้ในสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับที่ดินจำนวน3 แปลงที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 ส่วนที่ทนายโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เท้าความถึงกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายได้เพราะมีเหตุขัดข้องเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยที่ 1 และตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า “หากไม่ได้รับการติดต่อนัดหมายโอนที่ดินดังกล่าวภายใน 7 วัน… ข้าพเจ้าก็มีความเสียใจที่จะดำเนินการกับท่านตามกฎหมายต่อไป…” นั้น หนังสือดังกล่าวก็ไม่มีข้อความหรือไม่อาจแปลได้ว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมกับชดใช้ค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350, 83 และ 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนโจทก์นำสืบว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1166 ตำบลทางเกวียนอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2528 ในราคา240,000 บาท โจทก์ชำระเงินไปแล้ว 100,000 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันภายในเดือนมิถุนายน 2529 เมื่อถึงวันนัดคือวันที่ 20 มิถุนายน2529 โจทก์จำเลยไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดระยอง แต่ไม่สามารถทำการโอนกันได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียมการโอนขายกึ่งหนึ่งและไม่ยอมชำระค่าภาษีเงินได้ จึงตกลงนัดไปโอนกันอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 30 เดือนเดียวกันนั้น ปรากฏว่ายังตกลงกันไม่ได้ตามเดิม โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้น เมื่อวันที่26 พฤศจิกายน 2529 ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้ตามสัญญาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2530 ให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องกันและอยู่บ้านเดียวกัน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2529 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินจำนวน 2 แปลงโฉนดเลขที่ 4748 และ 4750 ซึ่งอยู่ที่อำเภอแกลงจังหวัดระยอง ให้จำเลยที่ 2 โดยทำเป็นสัญญาซื้อขาย และในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 12 ธันวาคม 2529 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินของตนให้แก่จำเลยที่ 2 อีก 1 แปลง เป็นที่ดินที่มีหลักฐานเป็น น.ส.3 ก. เป็นการโอนให้โดยเสน่หา การที่จำเลยทั้งสองสมคบโอนที่ดินกันนี้ก็โดยมีเจตนาทุจริตจะมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ เพราะว่าถ้าคดีที่โจทก์ฟ้องที่ศาลชั้นต้น ศาลพิพากษาให้ฝ่ายจำเลยแพ้คดีหากโจทก์บังคับคดีตามคำพิพากษาไม่ได้ โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยที่ 1ให้คืนเงินค่ามัดจำและค่าเสียหาย และเมื่อโจทก์ชนะคดี โจทก์ก็จะบังคับคดีตามคดีหลังไม่ได้ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังแกล้งทำตนเป็นลูกหนี้นายก่อศักดิ์ ศุภมณี โดยได้ทำหนังสือสัญญากู้ปลอมให้นายก่อศักดิ์ไว้เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท ในสัญญานั้นระบุว่าให้นายก่อศักดิ์ยึดโฉนดเลขที่ 1166 ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลงจังหวัดระยอง ไว้เป็นประกันซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายไว้กับจำเลยที่ 1 ในเดือนมกราคม 2530 จำเลยที่ 1ได้ย้ายภูมิลำเนาจากจังหวัดระยองไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ครั้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530 นายก่อศักดิ์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลแพ่งตามสัญญาเงินกู้ และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2530 เมื่อถึงวันที่ 30 มีนาคม 2530 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ วันที่ 31 มีนาคม2530 นายก่อศักดิ์ขอให้ศาลแพ่งบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1166เพื่อขายทอดตลาด ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องนายก่อศักดิ์และจำเลยที่ 1ที่ศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหาโกงเจ้าหนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า คดีมีมูลหรือไม่เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4748 และ 4750 กับที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 489 รวม 3 แปลง ตามฟ้องข้อ 1(1)(2) และ (3)ให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350เหตุเพราะว่าหนี้ที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น เป็นเรื่องที่ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1166 ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเท่านั้นไม่เกี่ยวกับที่ดิน 3 แปลง ที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2ไปดังกล่าว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทราบข้อความตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์เอกสารหมาย จ.6 ว่าโจทก์จะใช้สิทธิทางศาลให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายกับเรียกค่าเสียหาย และหากไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายได้โจทก์ก็จะต้องฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับไปแล้วจำนวน 100,000 บาท พร้อมทั้งเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายอีกจำนวนหนึ่ง กับจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์เอกสารหมาย จ.6 แล้ว ปรากฏว่าเป็นหนังสือของทนายความผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ เท้าความถึงกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายกันได้ ซึ่งทนายความผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ถือว่าเหตุขัดข้องเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยที่ 1 และตอนท้ายของหนังสือมีข้อความแต่เพียงว่า “หากไม่ได้รับการติดต่อนัดหมายโอนที่ดินดังกล่าวภายใน7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือนี้ ข้าพเจ้าก็มีความเสียใจที่จะต้องดำเนินการกับท่านตามกฎหมายต่อไป หวังว่าคงได้รับความร่วมมือด้วยดี”เท่านั้น ไม่มีข้อความหรือไม่อาจแปลได้ว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1คืนเงินมัดจำพร้อมกับเรียกค่าเสียหายดังที่โจทก์ฎีกา ฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำพร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์และให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีแทนโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 และพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share