คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินมีโฉนดนั้นเมื่อถูกเวนคืนบางส่วนโดยพ.ร.ก.เพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสสรณ์ฯลฯ กรรมสิทธิ์ย่อมตกไปเป็นของรัฐส่วนหนึ่งแล้วทันที โดยไม่ต้องทำพิธีรังวัดแบ่งแยกทางพนักงานเจ้าหน้าที่
ถ้าหากรัฐบาลจะต้องส่งคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินนั้นไปเพราะการเวนคืนเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับคืน ไม่ใช่ผู้ถือโฉนดในตอนหลังเพราะตนรับโอนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเท่านั้น
หลักกฎหมายในเรื่องเสรีภาพบริบูรณ์ในทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นที่รับนับถือกันตลอดมาแล้วในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องระบุวัตถุประสงค์ไว้ถ้าไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เวนคืนตามวัตถุประสงค์ก็จำต้องโอนอสังหาริมทรัพย์นั้นกลับคืนให้ผู้ถูกเวนคืน
พ.ร.ก.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯลฯ เพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสสรณ์ฯลฯมาตรา 4 ที่ให้เจ้าพนักงานจำหน่ายขายที่ดินที่รับซื้อไว้ซึ่งเหลือจากการสร้างสะพานหรือถนนแล้วนั้นหมายความเฉพาะที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานต้องกำหนดราคาค่าทดแทนเป็นตัวเงินให้เท่านั้น
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2495)

Share