คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมขายภาพวาดสีน้ำมันขนาด 12 นิ้วฟุตคูณ 15 นิ้วฟุตอันเป็นงานจิตรกรรมซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ราคาเพียงภาพละ 300 บาท ให้ อ. และ ม. ดังนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมขายภาพดังกล่าวเป็นภาพ ๆ ไป หาได้ขายลิขสิทธิ์ในภายให้ไปด้วยไม่ ถ้าโจทก์ร่วมอนุญาตให้นำภาพดังกล่าวไปพิมพ์ได้ก็จะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้เมื่อจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ทำซ้ำซึ่งภาพวาดนั้นเป็นบัตรอวยพร ปีใหม่ออกจำหน่ายแก่ประชาชนโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วม จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ภาพวาดอันเป็นงานจิตรกรรมลงบนแผ่นผ้าด้ายดิบ จำนวน 15 ภาพ อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของนางสาวนิตยา ขจรศิริพงษ์ ผู้เสียหาย โดยถ่ายและบันทึกภาพดังกล่าวลงบนแผ่นฟิล์มบันทึกภาพ แล้วนำแผ่นฟิล์มบันทึกภาพไปเป็นแบบอย่างในการแกะต้นแบบทำแม่พิมพ์ (ทำเพลท) ขึ้น จำนวน 15 อันแล้วนำไปจัดพิมพ์คำอวยพร ปีใหม่ให้ปรากฏต่อสาธารณชนตามร้านขายหนังสือเพื่อการจำหน่าย อันเป็นการกระทำลงเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 6, 13, 24, 47 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสั่งให้แผ่นบัตรอวยพรของกลางทั้งหมด 621 แผ่นตกเป็นของผู้เสียหาย
ก่อนสืบพยานโจทก์ นางสาวนิตยา ขจรศิริพงษ์ ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6, 13, 24, 43 วรรค 2 47ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษปรับคนละ 50,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้กักขังแทนมีกำหนด 2 ปี ภาพของกลาง 621 ภาพ ให้ตกเป็นของโจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงคงฟังได้ในเบื้องต้นว่าภาพเขียนตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.19 รวม 15 ภาพ นางสาวนิตยาขจรศิริพงษ์ โจทก์ร่วม เป็นผู้เขียนขึ้นโดยการวาดภาพด้วยสีน้ำมันลงบนแผ่นเฟรมขึงด้วยผ้าขนาด 12 นิ้วฟุตคูณ 15 นิ้วฟุต ซึ่งถือว่าเป็นงานจิตรกรรมอันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ร่วม ต่อมามีผู้ทำซ้ำซึ่งงานจิตรกรรมทั้ง 15 ภาพของโจทก์ร่วมด้วยการถ่ายและบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มบันทึกภาพ แล้วนำแผ่นฟิล์มบันทึกภาพไปแกะต้นแบบทำแม่พิมพ์ขึ้น แล้วใช้แม่พิมพ์ พิมพ์ลงแผ่นกระดาษเป็นบัตรอวยพรปีใหม่ (ส.ค.ส.) ออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยปรากฏชื่อบริษัทไอสเทรด จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้พิมพ์อยู่ด้านหลังบัตรที่วางจำหน่าย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดบัตรที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่ายประมาณ 600 บัตร จากที่ทำการของบริษัทจำเลยที่ 1 มาเป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้พิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ดังกล่าวหรือไม่ หากใช่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้กระทำไปโดยโจทก์ร่วมผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้อนุญาต อันเป็นการทำซ้ำซึ่งงานจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้พิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ในคดีนี้ออกจำหน่ายแก่ประชาชนหรือไม่นั้น ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นผู้จัดพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ตามฟ้องขึ้นจำหน่ายเอง ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ร่วมผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1ที่ 2 พิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ออกเผยแพร่ด้วยการจำหน่ายแก่ประชาชนได้หรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์ร่วมและนายอุทัย สามีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันตรงกันว่านางสาวอารีย์ และนางเมธินาถเป็นแต่เพียงมาซื้อภาพวาดของโจทก์ร่วมไปเป็นภาพ ๆ เท่านั้นโจทก์ร่วมไม่เคยอนุญาตให้นำไปทำซ้ำด้วยการพิมพ์เป็นบัตรอวยพรปีใหม่ได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ภาพวาดของโจทก์ร่วมที่ขายให้นางสาวอารีย์และนางเมธินาถไปเป็นภาพวาดสีน้ำมันขนาด 12 นิ้วฟุตคูณ15 นิ้วฟุต ราคาที่ขายให้เพียงราคาภาพละ 300 บาท นับว่าเป็นราคาถูกมาก รูปคดีจึงเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมขายภาพต่าง ๆ ตามฟ้องเป็นภาพ ๆ ไปหาได้ขายลิขสิทธิ์ในภาพให้ไปด้วยไม่ โจทก์ร่วมเป็นคนมีความรู้ระดับอนุปริญญาจากวิทยาลัยเพาะช่างย่อมจะรู้ดีว่าถ้าขายลิขสิทธิ์ให้ไปด้วย ผู้ซื้อย่อมมีสิทธินำภาพดังกล่าวไปทำซ้ำเผยแพร่และได้รับผลประโยชน์อีกมากมาย คงจะไม่ตกลงขายภาพพร้อมลิขสิทธิ์ให้ไปเพียงราคาภาพละ 300 บาท เป็นแน่ ที่ฝ่ายจำเลยนำนายพรเทพมาเบิกความว่าได้ตกลงซื้อภาพจากนางสาวอารีย์ในราคาภาพละ 700 บาทนั้น เห็นว่าเป็นราคาที่นายพรเทพซื้อต่อจากนางสาวอารีย์ ผู้เป็นคนกลางอีกต่อหนึ่ง มิได้ซื้อโดยตรงจากโจทก์ร่วม คำนายพรเทพดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยแต่ประการใด ส่วนที่ นางเมธินาถพยานโจทก์และโจทก์ร่วมกับนางสาวอารีย์พยานจำเลยอ้างว่าระหว่างติดต่อขอให้โจทก์ร่วมวาดภาพให้ตามที่นายพรเทพสั่ง โจทก์ร่วมได้ทราบแล้วว่านายพรเทพจะนำไปพิมพ์เป็นบัตรอวยพรปีใหม่เพื่อจำหน่าย โจทก์ร่วมอนุญาตให้นำไปพิมพ์ได้นั้นเห็นว่านางสาวอารีย์และนางเมธินาถเป็นหุ้นส่วนของร้านเอนกวัฒนา ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรับซื้อและจำหน่ายภาพวาด อันเป็นงานจิตรกรรมซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ย่อมจะรอบรู้และเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ดียิ่ง ทั้งปรากฏว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบดีมาก ดังจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ขายภาพให้นายพรเทพ จะทำหลักฐานการรับเงินและมอบภาพให้ผู้ซื้อปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20 หรือ ล.6, ล.7 ไว้ ดังนั้นถ้าโจทก์ร่วมมอบลิขสิทธิ์ในภาพวาดในคดีนี้ให้ด้วยจริงแล้วนางสาวอารีย์ นางเมธินาถจะต้องได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือขึ้นไว้อย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องมีความสำคัญยิ่งกว่าหลักฐานการขายภาพการรับเงินเป็นอันมาก แต่หาได้กระทำหลักฐานกันไว้ไม่ ที่มาอ้างเอาง่าย ๆ ว่าเพราะเชื่อใจกันนั้น เห็นว่าไม่น่าเชื่อถือพยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่สามารถรับฟังหักล้าง พยานหลักฐานโจทก์ดังวินิจฉัยมาแล้วได้ คดีเป็นอันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำซ้ำซึ่งภาพวาดอันเป็นงานจิตรกรรม และเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมด้วยการพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษเป็นบัตรอวยพรปีใหม่ออกจำหน่ายให้ประชาชน โดยโจทก์ร่วมเจ้าของลิขสิทธิ์มิได้อนุญาตให้กระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share