แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับลูกจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 ตกลงให้เลิกงานเวลา 17.50 นาฬิกา ฉะนั้นเวลา 17.30-17.50 นาฬิกาจึงเป็นเวลาทำงานอยู่ จำเลยให้ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานในเวลาดังกล่าวและยินยอมให้กลับบ้านไปก่อนตั้งแต่เวลา 17.30 นาฬิกา ถือได้ว่าช่วงเวลา 17.30-17.50 นาฬิกา จำนวน 20 นาที เป็นเวลาที่จำเลยจัดให้พักแล้ว เมื่อรวมกับเวลาพักตั้งแต่เวลา 12.00-12.40 นาฬิกาอีก 40 นาที เป็นหนึ่งชั่วโมง จึงชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ1 ชั่วโมงแล้ว
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงที่ 5
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลย จำเลยจัดให้โจทก์พักไม่ครบวันละ 1 ชั่วโมง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 คนละจำนวน 7,390 บาท และโจทก์ที่ 5 จำนวน 3,328 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยจัดเวลาพักให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าครบ 1 ชั่วโมงแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ลูกจ้างจำเลยซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งห้ามิได้พักระหว่างเวลา 10-10.20 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยและผู้แทนลูกจ้างตกลงให้เป็นเวลาพักช่วงแรก แต่ลูกจ้างได้หยุดพักเป็นเวลา 12-12.40นาฬิกา และปล่อยให้ลูกจ้างกลับบ้านได้ตั้งแต่เวลา 17.30 นาฬิกาเห็นว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับลูกจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 ระบุว่าให้ลูกจ้างเลิกงานเวลา 17.50 นาฬิกา เพราะฉะนั้นเวลาระหว่าง17.30-17.50 นาฬิกา จึงยังเป็นเวลาทำงานอยู่ จำเลยให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าไม่ต้องทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว โดยยินยอมให้กลับบ้านได้ก่อนเวลาเลิกงาน ช่วงเวลา 17.30-17.50 นาฬิการวม 20 นาที ถือได้ว่าเป็นเวลาที่จำเลยจัดให้พักแล้วเมื่อรวมกับเวลาพักระหว่าง 12-12.40 นาฬิกา อีก 40 นาที จึงครบ 1 ชั่วโมงกรณีจึงชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดว่า นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง โดยจะให้มีเวลาพักเป็นหลายครั้งก็ได้ แต่เมื่อรวมเวลาพักแล้วต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า1 ชั่วโมง และเวลาพักจะต้องเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการทำงานด้วย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน