แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ใช้ลูกระเบิดมือขว้างจำเลยที่ 4 ซึ่งวิ่งหนีเข้าไปในกลุ่มคน สะเก็ดระเบิดทำให้คนตาย 7 คน และได้รับอันตรายแก่กายอีกหลายคน การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นลักษณะของการกระทำที่จะทำให้ตายโดยใช้อาวุธที่ร้ายแรง มีอำนาจแห่งการทำลายโดยกว้างขวาง แต่ไม่เป็นการกระทำโดยทารุณโหดร้าย
โจทก์ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2513โจทก์ยื่นฎีกาได้ภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2513 แต่เมื่อวันที่ 5,6 และ 7 เป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงยื่นฎีกาในวันที่ 8 ธันวาคม 2513 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 299, 80, 83 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งกระทำโดยทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามมาตรา 90ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยนี้เสีย ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้ยกฟ้องปล่อยไป ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 ตามฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลดโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบด้วยมาตรา 80ลงโทษตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 รับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กับพวกมีเรื่องโต้เถียงทะเลาะกับจำเลยที่ 4 นอกประตูวัดศรีชมพู จำเลยที่ 4 ยิงปืนขึ้น 1 นัด แล้ววิ่งหนีเข้าประตูวัดไปในกลุ่มคนที่มาเที่ยวดูงานในบริเวณวัด จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งไล่จับจำเลยที่ 4 ไปถึงประตูวัดจำเลยที่ 1 จึงใช้ลูกระเบิดมือ 1 ลูกขว้างจำเลยที่ 4 ขณะวิ่งเข้าไปในกลุ่มคนที่มาเที่ยวดูงาน ลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้น สะเก็ดระเบิดทำให้กลุ่มคนที่มาเที่ยวดูงานถึงแก่ความตาย 7 คน จำเลยที่ 4 และคนอื่น ๆ ได้รับอันตรายสาหัสรวม 4 คน และมีผู้ได้รับอันตรายอีกหลายคนจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นลักษณะของการกระทำที่จะทำให้ตายโดยใช้อาวุธที่ร้ายแรง มีอำนาจแห่งการทำลายโดยกว้างขวาง มิได้มีการกระทำอันแสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษแต่ประการใด กรณีจึงไม่เข้าลักษณะการกระทำโดยทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นแต่ศาลฎีกาเห็นด้วยกับฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่าศาลอุทธรณ์วางโทษแก่จำเลยที่ 1 เบาไป
นอกจากนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 กล่าวในคำแก้ฎีกาว่าโจทก์ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2513โจทก์จะต้องยื่นฎีกาภายในกำหนด 30 วัน คือ ต้องยื่นภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2513 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เพราะกฎหมายบัญญัติให้นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2513 กำหนดระยะเวลาฎีกาหนึ่งเดือนจึงเริ่มนับเป็น 1 วันในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2513 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 โจทก์จึงยื่นฎีกาได้ภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2513 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย แต่ปรากฏว่าวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์และเป็นวันหยุดราชการวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 6 เป็นวันอาทิตย์ วันที่ 7 เป็นวันจันทร์ซึ่งทางราชการให้หยุดราชการชดเชย โจทก์จึงชอบที่จะยื่นฎีกาในวันอังคารที่ 8 ธันวาคม 2513 ซึ่งเป็นวันเปิดทำงานได้ หาใช่ยื่นฎีกาได้ภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2513 ดังจำเลยเข้าใจไม่
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์