แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเป็นหนังสือ และระบุในสัญญาว่าได้มีการวางเงินมัดจำให้ผู้จะขายไว้ด้วย การวางเงินมัดจำนั้นเป็นแต่เพียงข้อสัญญากันข้อหนึ่ง หาใช่ตกลงทำสัญญากัน ด้วยการวางมัดจำไม่ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
เมื่อหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินระบุว่า ผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้จากผู้จะซื้อเป็นการถูกต้องแล้ว ผู้จะขายจะนำสืบพยานบุคคลว่าไม่ได้รับเงินมัดจำโดยผู้จะซื้อขอผัดชำระนั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร หาใช่เป็นการสืบหักล้างเอกสารว่าไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่
สัญญาจะซื้อขายระบุว่า ถ้าผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้ผู้จะซื้อตามกำหนด ยอมให้ผู้จะซื้อฟ้องบังคับ และยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้จะซื้อเป็นเงินจำนวนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งด้วย ค่าเสียหายเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้ในสัญญา และเป็นเบี้ยปรับซึ่งผู้จะขายผู้เป็นลูกหนี้สัญญาจะให้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381ซึ่งนอกจากจะเรียกให้โอนที่ดินเป็นการชำระหนี้แล้วผู้จะซื้อซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาจากผู้จะขายได้อีกด้วย มิใช่เบี้ยปรับตามมาตรา380 ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้หรือเรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้จะซื้อฟ้องเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญา โดยมิได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้จะขาย เพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร แม้ผู้จะซื้อมิได้นำสืบถึงความเสียหายศาลก็มีอำนาจกำหนดเบี้ยปรับตามจำนวนที่พอสมควรให้ได้
(วรรคหนึ่งถึงสาม วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 29/2515)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ราคา 570,000 บาทโจทก์วางมัดจำไว้ 50,000 บาท นัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 23 มกราคม 2511 ถ้าจำเลยบิดพลิ้ว ยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินเป็นของโจทก์ได้ และยอมให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท อีกส่วนหนึ่งด้วย จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอน ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดิน โดยรับเงินที่เหลือจากโจทก์และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยยังไม่ได้รับเงินมัดจำ โจทก์ผิดสัญญาจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์เรียกค่าเสียหายไม่ได้
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยผิดสัญญา พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ยังเหลือ 520,000 บาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามสัญญาแก่โจทก์ 100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพียง 50,000 บาทนอกนั้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา สรุปได้ 3 ข้อดังนี้
1. ในวันทำสัญญา โจทก์ยังมิได้ชำระเงินมัดจำให้จำเลย โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินมัดจำ ชอบที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเสียได้
2. หากฟังว่าจำเลยผิดสัญญา เมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทแล้ว โจทก์จะเรียกเบี้ยปรับอีกไม่ได้
3. โจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ฎีกาข้อ 1 โจทก์แก้ฎีกามาด้วยว่า จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารมิได้ อ้างฎีกาที่ 1710/2500
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรค 2 บัญญัติไว้ให้ทำได้เป็น 3 ประการ คือ มีหนังสือเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง วางประจำไว้อย่างหนึ่ง หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วอีกอย่างหนึ่ง ถ้าคู่สัญญาจะทำกันโดยใช้วิธีแรกคือทำหนังสือสัญญาเป็นหลักฐานแล้ว กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงและจะนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลง แก้ไข ข้อความในเอกสารนั้นมิได้ถ้าทำโดยสองวิธีหลัง ก็ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เพราะมิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ แต่คดีนี้โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทเป็นหนังสือ ตามเอกสารหมาย จ.1 แม้ในสัญญาจะระบุว่าได้มีการวางมัดจำให้ผู้จะขายไว้ด้วย การวางเงินมัดจำเป็นแต่เพียงข้อสัญญากันข้อหนึ่ง หาใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางมัดจำไม่ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เมื่อหนังสือสัญญาจะซื้อขายระบุว่าจำเลยผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้จากโจทก์ผู้จะซื้อเป็นการถูกต้องแล้ว จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลว่าไม่ได้รับเงินมัดจำเพราะโจทก์ขอผัดชำระนั้น ไม่อาจรับฟังได้ เพราะเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาจะซื้อขาย หาใช่เป็นการสืบหักล้างเอกสารว่าไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่
เมื่อพยานบุคคลของจำเลยต้องห้ามมิให้ศาลรับฟัง ข้อเท็จจริงก็ต้องฟังตามเอกสารว่าโจทก์ได้ชำระเงินมัดจำ 50,000 บาท ให้จำเลยรับไปในวันทำสัญญาถูกต้องแล้ว โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญากับโจทก์ได้ สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทยังไม่เลิกต่อกัน จำเลยเองที่เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมขายที่พิพาทให้โจทก์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาข้อ 2 เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และในสัญญาจะซื้อขายระบุไว้ว่า ถ้าจำเลยผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายที่พิพาทตามกำหนด ยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับและยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาทอีกส่วนหนึ่งด้วยค่าเสียหายเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้ในสัญญาคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 หรือมาตรา 381
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า เบี้ยปรับตามสัญญาจะซื้อขายรายนี้ เป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ สัญญาจะให้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร กล่าวคือ ไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 ซึ่งนอกจากจะเรียกให้ชำระหนี้แล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาจากจำเลยได้อีกด้วย หาใช่เป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 380 ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้หรือเรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่
ฉะนั้น คดีนี้โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่พิพาทให้โจทก์เป็นการชำระหนี้และเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลย เนื่องจากการไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามเวลาที่กำหนดได้ด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรแต่ฟ้องเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญา แม้โจทก์จะมิได้นำสืบถึงความเสียหาย ศาลก็มีอำนาจกำหนดเบี้ยปรับตามจำนวนที่พอสมควรให้แก่โจทก์ได้เฉพาะคดีนี้สัญญากำหนดเบี้ยปรับไว้เป็นเงิน 100,000 บาท ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดลงเหลือเพียง 50,000 บาท ซึ่งโจทก์พอใจไม่ฎีกา นับว่าเป็นเบี้ยปรับจำนวนพอสมควรแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน